เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 มี.ค.2563 ที่ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และ นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมมอบสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและแกนนำสุขภาพ หรือ มะลิ 2 โดยมีผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เข้าร่วมโครงการ 250 คน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า เทศบาลฯ ได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับการ เป็นเครือข่ายขอนแก่น Smart Living Lab โดยได้มีการสำรวจปัญหาสุขภาพและความต้องการเทคโนโลยีฉลาดของผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งพบว่าประชากรผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการล้ม รวมถึงมีภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อมในอัตราที่สูง อีกทั้งส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านตามลำพังในตอนกลางวัน เนื่องจากลูกหลานไปทำงานนอกบ้าน หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ บางครั้งไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และบางคนไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ จึงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้สูงอายุเองและคนในครอบครัว จึงเป็นที่มาของการหารูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุในพื้นที่ และสร้างระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่าย " การใช้เทคโนโลยีฉลาด เช่น สายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือ Smart Wrisband เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้างต้นแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ จากเซ็นเซอร์ติดต่อสุขภาพและพฤติกรรมการสวมใส่ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับทราบข้อมูลสุขภาพของตนเองที่เป็นจริงในขณะนั้น เช่น การออกกำลังกายประจำวัน การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ค่าความดันโลหิตที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม และยังมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการอัจฉริยะอุบัติเหตุฉุกเฉิน (IOC) ของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่ และมีระบบการติดต่อสื่อสารที่ง่าย สะดวกในการใช้งาน ทำให้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุได้รวดเร็วขึ้น" นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เทศบาลฯได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมโครงการ และได้รับการสนับสนุนสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพ รุ่นมะลิ 2 จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 140 เส้น และในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนกลาง อีกจำนวน 350 เส้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการจำนวนมากถึง 490 คน ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ ที่สามารถวิเคราะห์ทำนายภาวะสุขภาพผ่านศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะได้ ( intelligence Operation Center ) ช่วยให้จังหวัดขอนแก่น สถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล รวมไปถึงผู้วางแผนด้านงบประมาณสุขภาพ ได้ข้อมูลตรงตามข้อเท็จจริง เกิดนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพใหม่ๆ สามารถทำนายสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ในการวางแผนจัดการสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป