“ดวงตะวันลับไป ดวงฤทัยให้หวล ยามสายันต์รัญจวน ปั่นป่วนอุรา” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากบทเพลง “สายันต์รัญจวน” เสียงร้องของ แจ้ – ดนุพล แก้วกาญจน์ แม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว แต่บทเพลงนี้ยังคงคุ้นหูผู้ฟังมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบทเพลงนี้ คือนักแต่งเพลงมือทอง ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกตำนานของวงการนักแต่งเพลง นามว่า “สมพจน์ สิงห์สุวรรณ” สมพจน์ สิงห์สุวรรณ นักแต่งเพลงวัย 79 ปี เข้าสู่วงการเพลง เมื่อปี พ.ศ.2504 เริ่มจากการเป็นนักจัดรายการวิทยุ จัดรายการเพลงลูกกรุง ที่สถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้มีโอกาสรู้จักกับครูเพลงลูกกรุงชื่อดังในสมัยนั้นหลายท่าน อาทิ ครูสาโรจน์ เสมทรัพย์ ครูไสล ไกรเลิศ ครูจงรัก จันทร์คณา และด้วยความที่รู้จักและคุ้นเคยกับนักแต่งเพลงและครูเพลงลูกกรุงนี้เอง ทำให้สมพจน์เดินเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักแต่งเพลงในเวลาต่อมา สมพจน์ เล่าให้ฟังว่า การทำเพลงในทศวรรษ 2500 นั้น ยังไม่มีค่ายเพลงหรือบริษัทเพลงเข้ามาบริหารจัดการกระบวนการผลิตเพลง ทำให้นักแต่งเพลงไม่ได้มีหน้าที่แค่เขียนเพลงเท่านั้น หากแต่นักแต่งเพลงมีหน้าที่เปรียบเสมือนโปรดิวเซอร์ ต้องบริหารจัดการการผลิตเพลงด้วยตัวเองทุกกระบวนการ ทั้งการเลือกและติดต่อนักร้อง หาวงดนตรี เลือกห้องบันทึกเสียง และเมื่อบันทึกเสียงเสร็จแล้วยังต้องเป็นผู้ติดต่อกับห้างแผ่นเสียง เพื่อขอพื้นที่ในการจัดจำหน่ายแผ่นเสียง ทำให้ผู้ที่จะทำเพลงในสมัยนั้น ต้องมีความรอบรู้ทั้งทางด้านดนตรี การเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับการทำเพลง และต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วย ต่อมาเมื่อระบบค่ายเพลงถือกำเนิดขึ้น อุตสาหกรรมเพลงก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ค่ายเพลงเป็นผู้ควบคุมการผลิตเพลงทั้งกระบวนการ ทั้งการเลือกนักร้อง การบันทึกเสียง การประชาสัมพันธ์ และการจัดจำหน่าย ทำให้ศิลปินถูกบังคับด้วยกรอบที่ค่ายเพลงวางไว้ ในส่วนนักแต่งเพลง เมื่อเซ็นสัญญากับค่ายเพลงแล้ว มีหน้าที่เพียงเขียนเพลงตามโจทย์ที่ค่ายเพลงต้องการ ทำให้นักแต่งเพลงไม่มีบทบาทในการทำเพลงดังเช่นอดีต และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้สมพจน์เลือกที่จะไม่เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใด เนื่องจากต้องการอิสระทางความคิดในการแต่งเพลง และไม่ต้องการถูกตีกรอบทางความคิดจากค่ายเพลง อีกทั้งบทเพลงที่สมพจน์แต่งขึ้นมานั้น มีแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำให้บทเพลงของสมพจน์ไม่ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของค่ายเพลงเท่าใดนัก ซึ่งสมพจน์ยืนยันว่า เขามีความสุขกับเป็น “ศิลปินอิสระ” มากกว่า นอกจากนี้ เขายังมองว่าระบบอุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบัน ที่อินเตอร์เนตและสื่อออนไลน์มีบทบาทกับผู้ฟังมากกว่าค่ายเพลง เป็นเรื่องที่ดีต่อศิลปินในปัจจุบันมาก และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงพัฒนาขึ้น กล่าวคือ ศิลปินจะได้ทำเพลงในแนวทางของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ค่ายเพลงมากำหนดทิศทาง ทำให้ศิลปินสามารถทำเพลงที่สะท้อนตัวตนอย่างแท้จริง และผู้ฟังสามารถรับฟังบทเพลงที่มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย แม้จะเป็นศิลปินอิสระมาโดยตลอด แต่บทเพลงของสมพจน์นั้นมีชื่อเสียง คุ้นหูผู้ฟัง และประสบความสำเร็จแทบทุกเพลง อาทิ บทเพลง “อยากอดคุณตลอดเวลา” “รักและคิดถึง” และ “ความรัก” ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง บทเพลง “สายัณห์รัญจวน” และ“ตะวันตกดิน” ขับร้องโดย แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์ นอกจากนี้ สมพจน์ยังได้ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งสุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร ดนุพล แก้วกาญจน์ นคร เวชสุภาพร นัดดา วิยะกาญจน์ จรัญ มโนเพชร ชูใจ เพชรา และทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เรียกได้ว่าเขาคืออีกหนึ่งตำนานของวงการเพลงไทย ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จัดรายการสังคีตสราญรมย์ ครั้งที่ 178 “ภูมิเมืองเรืองสราญ” รับชมมินิคอนเสิร์ต “เพลง กวี ดนตรี ชีวิต 79 ปี สมพจน์ สิงห์สุวรรณ” พบกับศิลปินที่มาถ่ายทอดบทเพลงของสมพจน์ สิงห์สุวรรณ มากมาย อาทิ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ชูใจ เพชรา วิภา จันทรกูล ฎากร เทพทอง และธารทิพย์ ถาวรศิริ ในวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2563 ณ สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยสาทร 1 ถนนสาทร สอบถามรายเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ 0 2230 2062 0 2626 3351-2 รับชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย