ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2551 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 23.93 ล้านตัน และมีอัตราการเกิดขยะ 1.03 ก.ก./คน/วัน ขณะที่ในปี 2559 ปริมาณขยะมูลฝอยได้เพิ่มขึ้นเป็น 27.04 ล้านตัน ส่วนอัตราการเกิดขยะก็เพิ่มเป็น 1.14 ก.ก./คน/วัน แต่ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น ก็คือ ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง มีอัตราเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่สำคัญ กระบวนการคัดแยก จัดเก็บ รวบรวม และขนส่งขยะ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้เกิด “ปัญหาขยะตกค้าง” ดังที่เราทุกคนได้พบเห็นตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาที่น่าวิตกและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน! รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ จึงมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ นอกจากนี้ ทส. ยังได้หารือเพิ่มเติมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ.2559-2560) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะระยะสั้นภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการ ประเทศไทยไร้ขยะฯ เป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) โดยวางอยู่บนแนวคิด 3Rs-ประชารัฐ คือ การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน โดยลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ภายใต้หลักการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อวางรากฐานการดำเนินการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นายสากล กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ จึงได้นำแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะฯ มาผนวกเข้าเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนในปีนี้ รวมทั้งได้ปรับรายละเอียดของแผนงานเดิมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะฯมากขึ้น โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่กำลังดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นการประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ที่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และในปี ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเน้นในเรื่องการสร้างนวตกรรม ให้มีการนำสิ่งประดิษฐ์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่นวัตกรรม” ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากแนวความคิด การกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย โดยใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และกระบวนการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ช่วยให้วัสดุเหลือใช้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มีความประณีต สวยงาม คงทน ใช้งานได้ดี มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ “Thailand 4.0” ไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมของโครงการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กิจกรรม Work Shop อบรมเพิ่มศักยภาพต่อยอดผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมสู่นวัตกรรม Thailand 4.0 โดยวิทยากรมาให้ความรู้ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ผลงาน เทคนิคการจัดทำคลิปวีดีโอ การอัพโหลดผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ social network โดยเปิดรับสมัครกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมสู่นวัตกรรม Thailand 4.0 กำหนดจัดกิจกรรมในเดือนพฤษภาคม 2560 และ 2.กิจกรรมการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมสู่นวัตกรรม Thailand 4.0 โดยเปิดรับสมัครจากประชาชนในวงกว้าง กำหนดจัดกิจกรรมในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2560 สำหรับขั้นตอนการประกวดจะแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบที่ 1 รอบคัดเลือกผลงาน โดยเปิดให้ผู้ส่งใจส่งใบสมัครและข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลงาน เช่น ภาพสเก็ตซ์ แบบจำลองผลงาน รวมทั้งต้องแนบไฟล์วิดีโอความยาว 3-5 นาที เพื่อนำเสนอแนวคิดและขั้นตอนการประดิษฐ์ผลงาน โดยจะมีการนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 30 ผลงานจากคะแนน Popular Vote รอบที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ ทั้ง 30 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ จะได้รับมอบทุนผลงานละ 10,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจริง แล้วนำมาจัดแสดงสาธิตในรอบชิงชนะเลิศ เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินผลงาน สื่อมวลชน และประชาชน พิจารณาตัดสินผลงานจำนวน 10 รางวัล แบ่งเป็นการตัดสินโดยคณะกรรมการตัดสิน 9 รางวัล และรางวัลคะแนนโหวตผลงานยอดเยี่ยมจากสื่อมวลชนและผู้ร่วมงานอีก 1 รางวัล โดยคณะกรรมการจะใช้เกณฑ์การตัดสิน 5 ข้อ คือ 1.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม และการประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ 2.ความสวยงาม ประณีต และเป็นเอกลักษณ์ 3.การใช้ประโยชน์ได้จริง และมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ 4.ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 5.ผลงานที่มีการออกแบบจากวัสดุที่มีการใช้ทรัพยากรตามหลักการ 3R ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล 10 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงิน 30,000 บาท จำนวน 1 รางวัล, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงิน 20,000 บาท จำนวน 1 รางวัล, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัล เกีรติบัตร และเงิน 15,000 บาท จำนวน 1 รางวัล, รางวัลชมเชย ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงิน 10,000 บาท จำนวน 6 รางวัล และรางวัลผลโหวตยอดเยี่ยม ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงิน 10,000 บาท จำนวน 1 รางวัล ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวด โดยสามารถรวมกลุ่มกันได้ไม่เกิน 3 คน และยื่นใบสมัครภายในเดือนมิถุนายน 2560 ผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1.ส่งใบสมัครพร้อมไฟล์วิดีโอมายัง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มสื่อสิ่งแวดล้อมและกิจการพิเศษ ชั้น 2 เลขที่ 49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 และ 2.ส่งใบสมัครพร้อมไฟล์วิดีโอผ่านเว็บไซด์ www.deqp.go.th โดยไปที่หัวข้อบริการออนไลน์ แล้วเลือกโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02298-4608 อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ย้ำด้วยว่า การประกวดผลงานผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมสู่นวัตกรรม Thailand 4.0 จะไม่ได้เป็นโครงการที่สามารถช่วยลดขยะได้จากต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานหรือสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งถือเป็นฐานรากที่สำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุค “Thailand 4.0” ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอยากขอเชิญชวนคนไทย มาร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างรากฐานพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุค “Thailand 4.0” เพื่อสร้างเมืองไทยให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ไปพร้อมๆ กัน