วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2563) ณ แหล่งท่องเที่ยวบ้านกลับหัว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นายดิชฐ์พิเชษ สุวรรณโพธิ์ ประธานโครงการฟาร์มสุขใจ ภายใต้ บริษัทฟาร์มสุขใจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด(มหาชน) นำคณะดู "โครงการฟาร์มสุขใจศูนย์การเรียนรู้เมืองสมุนไพร" โดยมี นางสาวนงนุช บัวใหญ่ CEO บริษัทฟาร์มสุขใจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (มหาชน), ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย คณะผู้บริหารบริษัทฟาร์มสุขใจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด(มหาชน) คณะผู้บริหารเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และ เกษตรกร ตรวจดูพื้นที่จะนำร่องสร้างโดมปลูกกัญชา กัญชง พืชสมุนไพร และ เกษตรอินทรีย์ต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร
นายดิชฐ์พิเชษ สุวรรณโพธิ์ ประธานโครงการฟาร์มสุขใจ ภายใต้ บริษัทฟาร์มสุขใจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกัญชา พ.ศ.2562 นั้นมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
นอกจากนี้ ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา โดยการปลูกกัญชาต้องดำเนินการในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ในการปลูกทุกครั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ เนื้อเยื่อ หรือวิธีการอื่นตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว และจัดทำแนวเขตพื้นที่การเพาะปลูกที่เห็นได้ชัด ซึ่งต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบหาปริมาณสารสำคัญในกัญชา เช่น Cannabidiol (CBD) หรือ Tetrahydrocannabinol (THC) สารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่นๆ ในการปลูกทุกครั้ง ตามมาตรฐานที่กำหนด และเก็บหลักฐานการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในกรณีที่ผู้รับอนุญาต ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์ดังกล่าว โดยผู้รับอนุญาตอื่นที่รับผลผลิตจากผู้รับอนุญาตปลูกไปดำเนินการแปรรูปหรือผลิตต่อไป
รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จะผลิต หรือนำเข้า ซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ต้องขอการรับรองตำรับต่อผู้อนุญาตก่อน และเมื่อได้รับหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษนั้นได้ ส่วนการศึกษาวิจัย ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน เป็นต้น
นายดิชฐ์พิเชษ กล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 มีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สามารถทำได้หมด ในส่วนของการแจ้งเพื่อขอทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์นั้น ก็ยังสามารถทำได้ตลอด เนื่องจากกฎหมายมีการอนุญาตให้ขออนุญาตได้ แต่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ จะเป็นหน่วยงานรัฐใดก็ได้ สรุปโดยสังเขป ผู้ที่จะปลูกได้ ประกอบไปด้วย 1.หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ 2.หน่วยงานที่เกี่ยวกับทางการเกษตร เช่น วิสาหกิจชุมชนไปร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาสายพันธุ์ว่าสายพันธุ์ไหนดีหรือไม่ดี ก็สามารถมาขออนุญาตได้ แต่ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาต และ 3.หน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน เป็นต้น
ส่วนการขออนุญาตปลูกนั้น ประกอบด้วย 1. สถานที่เพาะปลูก ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 2. ต้องระบุปริมาณการปลูก 3. ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้ขอรับอนุญาต 4. มาตรการรักษาความปลอดภัยต้องมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา 5. รายละเอียดการดำเนินการ แบ่งเป็นกรณีปลูกเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ และกรณีปลูกเพื่อศึกษาวิจัย 6. ข้อมูลทั่วไปของผู้ขอรับอนุญาต หากปลูกต้องมีการระบุว่า จะนำสายพันธุ์กัญชามาจากที่ใด เช่น ขอมาจากของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ต้องมีการทำเรื่องขอของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากจะมีการนำเข้าสายพันธุ์ ก็ต้องมีการอนุญาตการนำเข้า ดังนั้น ขอย้ำว่าในการที่จะทำอะไรต้องขออนุญาตทุกขั้นตอน.








