บทความพิเศษ/ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ปี 2545 ถือกำเนิดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีสาธารณภัยใหญ่และภัยแปลกๆ เกิดมาตลอด ตอนนี้ก็ระวังภัยใหม่ที่มาพร้อมกับโลกโซเชียล คือ “ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ” เป็นภัยใหม่ที่เกิดในคนไทย แม้ว่าจะจับต้องไม่ได้แต่สร้างผลกระทบเสียหายระดับสูง ถูกหลอกโอนเงิน หรือการถูกขโมยพาสเวิร์ด หรือเกิดภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะวิกฤติในหลายรูปแบบ เด็กติดถ้ำ รถแก๊สระเบิด ตึกถล่ม อาคารก่อสร้างถล่ม เขื่อนแตก การชุมนุม การประท้วง และการก่อจลาจล ฯลฯ เพราะ สาธารณภัยรวมภัยความมั่นคงบางกรณีด้วย ทั้งสถานการณ์การสู้รบชายแดนมีผู้อพยพฯ ในเขตเมืองก็อุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือ เหตุร้ายจงใจก่อความวุ่นวาย อาชญากรรมในคนหมู่มาก เช่น “การกราดยิง” (Mass Shootings) การยิงกราดและการก่อการร้ายเป็นสาธารณภัยหรือไม่ “สาธารณภัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 “อุบัติภัย” หมายความว่า ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ อุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในบ้านหรือในที่สาธารณะ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2538 “ภัยพิบัติ” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีมาเป็นสาธารณะ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 “ภัยพิบัติ” หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้งฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลงหรือศัตรูพืชทุกชนิดอากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ในทางสากล “ภัยพิบัติ” (Disasters) คือ ภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ภัยพิบัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น มี 18 ประเภท ตามนิยามสารานุกรมวิกิพีเดีย ฉะนั้น ตามกฎหมายไทยกำหนดให้ “ภัยพิบัติ” เป็นสาธารณภัย ตามบทนิยามท้ายว่า ...”ภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯ ดังกล่าว ได้แก่ แผ่นดินถล่ม อัคคีภัยไฟป่า แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ ภัยหนาว ภัยฟ้าผ่า ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย อาคารถล่ม ภัยจากการคมนาคมขนส่ง ฯลฯ”... ในที่นี้ การกราดยิง รวมถึงเหตุก่อการร้ายที่คุกคามต่อมวลมนุษยชาติ คล้ายกับอาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (War Crimes or Genocide) และ เหตุการณ์กราดยิง (Mass Shootingห) คนสาธารณะหมู่มาก หรือการยิงคนต่อหน้าคนสาธารณะในย่านที่มีคนพลุกพล่านหรือย่านธุรกิจ ที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นภัยสาธารณภัยประเภทหนึ่ง ตามคำนิยาม เพราะกระทบกับประชาชนโดยส่วนใหญ่ส่วนรวม อย่างไรก็ตามในความหมาย “Mass Shootings” ที่หมายถึง “การกราดยิงหรือการยิงกราด” (แบบไม่เลือกเป้าหมาย) ต่างจาก “Terrorist” ที่เป็นผู้ก่อการร้ายมืออาชีพ กรณีของประเทศไทยเกิดเหตุติดต่อกัน คือ (1) การปล้นร้านทองออโรร่าในห้างสรรพสินค้า จังหวัดลพบุรี แล้วกราดยิงผู้คน เมื่อ 9 มกราคม 2563 (2) ทหารคลั่งยิงฆ่าผู้บังคับบัญชาและกราดยิงผู้คนที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 (3) การยิงฆ่าคน (แม้ไม่ได้กราดยิง) ในคลินิกเสริมความงามในห้างสรรพสินค้า กทม. เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ อปท.เคยมีการฝึกฝนประชาชนเผชิญเหตุและแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ แม้แต่การฝึก อปพร.มีเรื่องเหล่านี้หรือไม่ หรือ เรามีแค่ “จิตอาสา” ทำความสะอาดหลังจากเหตุการกราดยิงจบแล้วเท่านั้น ภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ อปท. อปท. มีภารกิจหลากหลาย แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะได้แยกงานสาธารณะ (Public Services) ออกเป็น 2 อย่างคือ (1) “จัดทำบริการสาธารณะ” และ (2) “จัดทำกิจกรรมสาธารณะ” ซึ่งเป็นบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น (Local Affairs) แก่ประชาชนในพื้นที่ หนึ่งในภารกิจที่สำคัญก็คือ “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” (Disaster Prevention and Mitigation) หรือ “การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน” (Civil Defense) รวมทั้ง “การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในพื้นที่” ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับงาน“ความมั่นคง” (Security) และ “ภัยคุกคาม” (Threat) ใช้วิธี “การป้องกัน” (Defense) และ “การป้องปราม” (Deterrence) ในการต่อต้านและป้องกันอาชญากรรมและก่อการร้ายในทางความมั่นคงทางทหารและทางการเมือง ในความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของคำว่า “สาธารณภัย” “ภัยพิบัติ” “อุบัติภัย” “ภัยจากการก่อการร้าย” (Terrorist) หรือ “ภัยจากอาชญากรรม” จะมีบุคลากรจำนวนหนึ่งที่ร่วมในการแก้ไขปัญหาหลายกลุ่มหลายคน ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครฯ หรือประชาชนทั่วไปที่มีหลากหลายระดับ ที่จะอดกล่าวเสียมิได้ก็คือ “เจ้าหน้าที่กู้ภัย” รวม “เจ้าหน้าที่กู้ชีพ” (Rescue) ที่ส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงาน ที่มีต้นทุนมาจากแรงจูงใจอันเป็นที่ตั้งแบบ “จิตอาสา” (Volunteer Spirit) หรือ “จิตสาธารณะ” (Public Mind or Public Consciousness) จิตอาสาเป็นใคร เมื่อกล่าวถึง “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ถึง 10 ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย “จิตอาสา” ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา “จิตวิญญาณ” ของเราด้วย มท. ให้นิยามว่า “จิตอาสา” หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในและต่างประเทศที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่นยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญาใน การทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ (1) จิตอาสาพัฒนา (2) จิตอาสาภัยพิบัติ (3) จิตอาสาเฉพาะกิจ มท. สั่งการให้จังหวัดตั้งชุดจิตอาสาภัยพิบัติ เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น ทั้งจากการฝึกร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ด้านการบูรณาการเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร ซึ่งในการฝึกอบรมเน้นการฝึกปฏิบัติกู้ภัยและกู้ชีพให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือ ลำเลียง และส่งต่อผู้ประสบภัย โดยให้ อปท.ดำเนินการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน กรกฎาคม 2563 เป็นภารกิจสำคัญที่สุด ที่ อปท.กำลังดำเนินการฝึกอบรมอยู่ในขณะนี้ “จิตอาสาภัยพิบัติ” เป็น จิตอาสาพระราชทาน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียม การ รองรับ ภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในพื้นที่โดยรวม และการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความ เดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติ ดังกล่าว เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น ด้วยพระปรีชาญาณอันชาญฉลาดของในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านทรงจัดตั้งจิตอาสาพระราชทานทั่วประเทศ ยามมีภัยคนไทยทุกคนเทใจช่วยกันไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเลยเช่น จากเหตุการณ์ช่วยเด็กและโค้ชฟุตบอลทีมหมูป่า 13 คนติดถ้ำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ 23 มิถุนายน 2561 - 10 กรกฎาคม 2561 รวม 17 วันเศษ มาถอดบทเรียนจากเหตุการณ์กราดยิง เป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว อาจเกิดเหตุได้ทุกเมื่อ เหตุกราดยิงทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมาสังคายนาทบทวนบทบาทกันใหม่ เพื่อร่วมกันป้องกันและบรรเทาเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นอีก พร้อมสร้างเครือข่าย “จิตอาสา” การพิจารณาในอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ต่อผู้อำนวยการท้องถิ่นฯ ในการช่วยเหลือระงับเหตุ และขั้นตอนการช่วยเหลือ หากภัยเกินศักยภาพ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ในดำเนินการระงับเหตุ และการเรียกใช้สั่งใช้กำลังคน ค่าตอบแทนช่วยเหลือทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ และ ผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ฯลฯ และหลังเหตุการณ์สิ้นสุดแล้วผู้อำนวยการท้องถิ่นฯ ยังมีบทบาทในการบรรเทาทุกข์ อปท. ต้องปรับบทบาทเดิมเสียใหม่ มิใช่เพียงภารกิจเฝ้าระวังอุบัติเหตุการจราจรในห้วงเทศกาลต่าง การช่วยเหลือน้ำท่วม ไฟไหม้ การอบรมให้ความรู้แก่หน่วยงานราชการและเอกชน โรงงานสถานประกอบการ โรงเรียนอนุบาล-ประถม-มัธยม การให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเรื่องการดับเพลิง การผจญเพลิง ตามเกณฑ์ชี้วัด LPA ฯลฯ เท่านั้น หลายคนมองว่า “จิตอาสาภัยพิบัติ” หรือ “จิตอาสากู้ภัย” ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแต่อย่างใด เป็นเพียงเครือข่าย “พลเมืองดี” เท่านั้น ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายฝึกอบรม เพราะงานจิตอาสามีดำเนินการมานานแล้ว เช่น การดับไฟป่า การกู้ภัย กู้ชีพ อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เป็นต้น มีข้อเสนอ “จัดการภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม บูรณาการ ครบวงจร” เพื่อความยั่งยืนของชุมชนปลอดภัยท่ามกลางวิกฤติของโลกสมัยใหม่ที่เกิดจากความไม่สมดุล โดยร่วมใจกันน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อสามัคคี ประสานร่วมมือร่วมใจกันทุกหมู่เหล่า การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมาจำเป็นเพื่อการศึกษาวิเคราะห์แก้ไข เช่น ในต่างประเทศมีการฝึกหัดการเรียนรู้เทคนิคเบื้องต้นในการช่วยตนเอง 3 ขั้นตอนที่จำเป็นมาก คือ “การหนี ซ่อน สู้” ดังนี้ (1) การหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ (2) การหลบซ่อนในที่ปลอดภัย (3) การรวบรวมคนและการต่อสู้การเข้าระงับเหตุ เพราะสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ฝึกเรียนรู้ได้ และใช้ได้จริงในสถานการณ์วิกกฤต นอกจากนี้ บทบาทใหม่ของ อปท. ที่ต้องทบทวนก็คือ การให้ความรู้ในการเผชิญเหตุให้แก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือตนเอง และการร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ทหารตำรวจ ในการเข้าระงับเหตุ การช่วยเหลือ การประสานงานฯ เป็นต้น หวังว่าข้อคิดนี้คงลบอคติบางอย่าง และกระตุ้นต่อม “สำนึกรับผิดชอบ” ของผู้เกี่ยวข้องให้คิดใหม่ทำใหม่ยังไม่สาย