ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “คุณค่าอันยิ่งใหญ่ของต้นไม้...คือการพยุงดุลยภาพแห่งธรรมชาติให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และมีชีวิต/คุณค่าแห่งความเป็นต้นไม้ถือเป็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่...ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์ และการที่มนุษย์คนหนึ่งได้สร้างสมการที่มีชีวิตของตนเองในฐานะของ “คนปลูกต้นไม้”...ชีวิตของเขาคนนั้นจึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งต่อโลกและสำนึกของผู้คนรอบข้าง” “คนปลูกต้นไม้” นวนิยายขนาดสั้นของ “ฌอง ฌิโอโน” (JEAN GIONO)/นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ล่วงลับไปแล้ว 50 ปีเมื่อนับเนื่องถึงปีนี้/ ถือเป็นเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่กลับเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น นาม “บุฟฟิเยร์”/ เขาย้ายชีวิตของตนเองจากในเมืองไปอยู่ในดินแดนทุรกันดารทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส หลังจากสูญเสียภรรยาและลูกไป/...ณ ที่นั้นเขาดำรงชีวิตอยู่โดยลำพัง พร้อมกับฝูงแกะและสุนัขภายในกระท่อมหินหลังหนึ่ง และได้ลงมือทำงานที่เขาใฝ่ฝันไว้อย่างมุ่งมั่น/..นั่นคืองานปลูกเมล็ดพันธุ์ต้นโอ๊กวันละ100เมล็ด.ซึ่งที่สุด..มันได้กลายเป็นงานที่เขา...ได้กระทำอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต..เป็นการกระทำ..เป็นการทำงานที่ผู้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ต้องได้เห็นถึงความอุตสาหะพยายามอันยิ่งใหญ่ อันหมายถึงการยกระดับสำนึกแห่งจิตใจออกจากวงกรอบอันจำกัดไปสู่โลกกว้างแห่งจิตวิญญาณอันเป็นสาธารณะ.../จิตวิญญาณแห่งความรับผิดชอบต่อภาพรวมของสังคม งานเขียนเล่มนี้ของ “ฌ็อง ฌิโอโน” ในฐานะแห่งการเป็นนักคิดนักเขียนผู้มีทัศนะอันสำคัญและจริงจังต่อสภาวะความเป็นอยู่ของสิ่งแวดล้อม..ถูกเขียนเอาไว้เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว/..เวลาแห่งการเขียนอาจเนิ่นนานมา แต่ทว่าสาระเรื่องราวทั้งหมดยังสามารถเป็นข้อเตือนใจให้แก่เหล่าประเทศในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศชาติบ้านเมืองของเราที่เพิ่งมีไฟป่าโหมกระหน่ำเผาผลาญต้นไม้ในอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของชาติและของโลกไปเป็นพันๆไร่..เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้/../ด้วยเงื่อนไขทั้งด้วยประเด็นจากธรรมชาติ ความมักง่ายของผู้คน และจิตใจอันโลภโมโทสันของกลุ่มคนบางกลุ่มคนที่ไร้สำนึก ณ ยุคสมัยที่ผู้คนของสังคมโลก...ต่างมุ่งเน้นบูชาอยู่แต่กับ “ลัทธิบริโภคนิยม” จนกลายสถานะจากความสูงส่งของความเป็นมนุษย์..เหลืออยู่เพียงฐานะของการเป็น “ผู้เสพผู้บริโภค” ที่หลงใหลอยู่กับความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะปฏิกิริยาในการใช้ทรัพยากรในด้านต้นไม้อย่างผิดๆ ตักตวงและทำลายล้างโดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียหรือสูญหายไปของวงจรแห่งธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของชีวิตและโลก.. เหตุดั่งนี้ใน ปรากฏการณ์ของความเป็นจริง..ต้นไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่ทุกส่วนของโลกนี้จึงร่อยหรอและดูเหมือนว่ากำลังจะหมดไปจากโลกนี้ ทั้งๆที่โดยเนื้อแท้ “ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่มีการดำรงอยู่อย่างเกี่ยวเนื่องกับผืนแผ่นดินโดยตรง เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสีเขียวอันน่าพิศวง มีความปรารถนาปัจจัยหล่อเลี้ยงตัวเองเพียงน้อยนิด แต่กลับให้ผลประโยชน์อย่างเหลือเฟือ ..ต่อที่ที่มันอาศัยหรือมีชีวิตอยู่” แต่ภายใต้โครงสร้าง และเงื่อนไขแห่งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นและได้ดำเนินไปไม่นานนัก กลับปรากฏว่า มีต้นไม้ต้นแล้วต้นเล่าถูกโค่นล้มและเผาทำลายลงทั้งด้วยความมักง่ายและมักได้อันเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนของผู้คน...พวกเขาต่างตักตวงและกระทำการในสิ่งที่ไร้สำนึกรับผิดชอบนี้ โดยปราศจากการยั้งคิดว่า “วิกฤติแห่งวิกฤตในด้านสิ่งแวดล้อมของโลก” กำลังจะเกิดหายนะขึ้นอย่างเลวร้าย... “บุฟฟิเยร์” ตัวละครที่ “ฌ็อง ฌิโอโน” ได้สร้างขึ้นในฐานะ “คนปลูกต้นไม้” อาจเปรียบได้ดั่งเป็นตัวแทนของบุคคลสามัญที่มีชีวิตอยู่จริง ...แต่กลับมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะปลุกผู้คนให้มีสำนึกในภารกิจสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษยชาตินั่นคือ “งานปลูกต้นไม้” ..ซึ่งหลายคนอาจดูแคลนว่ามันเป็นแค่งานชิ้นเล็กๆ ที่ไม่ควรจะใส่ใจทั้งๆที่งานปลูกต้นไม้ เป็นงานอันแท้จริง/เป็นงานชีวิต...(LIFE WORK)สำหรับทุกๆคน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับการสร้างสรรค์ในอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเลยทีเดียว “ผมเชื่อว่า..มนุษยชาตินั้นน่าสรรเสริญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าคงเป็นเพราะความยิ่งใหญ่แห่งจิตใจและการุณยภาพอันเหนียวแน่นมั่นคง...นี่เอง ที่ก่อให้เกิดผลงานชิ้นนี้...ชาวนาผู้ไร้การศึกษาผู้หนึ่ง สามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกับพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยบุคลิกภาพ.. “บุฟฟิเยร์” เป็นคนพูดน้อย..ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ใครๆก็จะรู้สึกได้ถึงความมั่นใจในตนเอง ตลอดจนความเชื่อมั่น ในความสามารถของเขาภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดำรงชีวิตอยู่/ ซึ่งมีลักษณะที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งในภาวะของธรรมชาติ และในซากร่างที่ปรักหักพังอันเกี่ยวเนื่องกับผลของสงคราม /เขาดำรงชีวิตด้วยการเป็นคนเลี้ยงแกะและปลูกต้นไม้/ตามแนวสันเขาด้วยเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ของต้นโอ๊กวันละ100 เมล็ด ด้วยการใช้แท่งเหล็กแทงดินเพื่อให้เป็นหลุมสำหรับหยอดเมล็ดแล้วจึงกลบหลุม.. ครั้นเมื่อถูกถามว่า.. “ที่ดินตรงนั้นเป็นของเขาหรือ?” ...เขาก็ตอบปฏิเสธ/..และเมื่อถูกถามว่า “ที่ดินตรงนั้นเป็นของใคร?”..เขาก็ตอบว่าไม่ทราบ แต่เข้าใจเอาว่าคงเป็นของสาธารณสมบัติ หรือไม่ก็เป็น “ของใครสักคนที่ไม่สนใจไยดีมัน” “บุฟฟิเยร์”..ไม่สนใจที่จะรู้ว่า ผืนแผ่นดินที่เขาใช้ปลูกต้นโอ๊กลงไปนั้นเป็นของใคร แต่เขากลับตั้งใจปลูกต้นโอ๊ก 100 เมล็ด ด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง และด้วยเหตุผลที่ว่า “แผ่นดินกำลังจะตาย..เพราะขาดต้นไม้..ประกอบกับเขาเองก็ไม่มีงานการอะไรมากมาย จึงตกลงใจที่จะฟื้นฟูสภาพแผ่นดินที่กำลังใกล้ตายนี้” เขาใช้เวลา ปลูกต้นไม้และฟื้นฟูผืนดินที่กำลังจะตายในเวลาร่วม 3 ปี/ ถ้าจะนับเป็นสถิติ เขาได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วด้วยเมล็ดถึง หนึ่งแสนเมล็ด../แต่ในหนึ่งแสนเมล็ดนั้น กลับสามารถงอกออกเป็นต้นได้เพียงสองหมื่นต้น และในสองหมื่นต้นนี้ ยังคาดว่าจะสูญเสียไปอีกประมาณครึ่งหนึ่ง “ให้กับสัตว์จำพวกหนู และให้กับพระประสงค์อันไม่อาจคาดหมายได้ของพระผู้เป็นเจ้า ...จึงอาจเหลือต้นโอ๊กเติบโตมาในดินแดนที่ไม่เคยมีไม้ชนิดใดเพียงหนึ่งหมื่นต้น” และเมื่อมีผู้กล่าวว่าภายในเวลา20ปี/ต้นโอ๊กหนึ่งหมื่นต้นของเขาจะต้องเติบโตอย่างงดงามแน่...เขากลับตอบว่า...ถ้าพระเจ้าประทานชีวิตให้เขาได้อีก 30 ปี..เขาจะต้องปลูกต้นไม้ได้อีกมากมายมหาศาล “จนเจ้าโอ๊กหมื่นต้นนี้เปรียบเหมือนน้ำหยดเดียวในมหาสมุทร” “ฌ็อง ฌิโอโน”ในฐานะผู้เขียน..ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยร้ายแรงต่อการรักษาป่า ผ่านเรื่องราวของ “คนปลูกต้นไม้”...ว่ามีเพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้นในทางสงครามเมื่อปีค.ศ.1939/ช่วงนั้นรถยนต์ยังวิ่งโดยอาศัยพลังงานไอน้ำที่ได้จากการเผาฟืน ...และปรากฏว่าระยะนั้นไม้ไม่พอใช้ จึงมีการเข้ามาตัดไม้โอ๊คที่ปลูกไว้เมื่อปีค.ศ.1910..แต่บริเวณป่าอยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก/จนไม่คุ้มกับการลงทุน บริษัทเลยเลิกโครงการไป แต่สำหรับ “บุฟฟิเยร์” เขาไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านี้ เขาอยู่ห่างออกไปราว30กิโลเมตร/ยังคงทำงานอย่างสงบ ไม่สนใจสงครามปีค.ศ.1939...เช่นเดียวกับไม่สนใจสงครามในปีค.ศ.1941 การกระทำอย่างมุ่งมั่นในการฟื้นฟูแผ่นดินที่กำลังจะตายของเขา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามขึ้น.../สายลมช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ สายน้ำไหลกลับคืนกลับสู่แผ่นดิน ..ต้นไม้หลายชนิดกลับฟื้นคืนกลับมา และที่สำคัญที่สุด “ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่” ก็ได้กลับคืนมาเช่นกัน ภาวการณ์ทำงานของ “บุฟฟิเยร์” ก่อให้เกิดนัยของการเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนอันสามัญที่เหมือนไม่ก่อให้เกิดความน่าพิศวงแต่ประการใด เหตุนี้ ...เมื่อนักล่าสัตว์ปีนขึ้นไปในป่าเขา เพื่อกระต่ายหรือหมูป่า พวกเขาย่อมเห็นการเติบโตอย่างฉับพลันของ “ไม้หนุ่ม”..แต่กลับไปคิดว่าทั้งหมดนั้นเป็นปรากฏการณ์สร้างสรรค์ของธรรมชาติ..ไม่มีใครสักคนที่เข้าไปยุ่งกับงานของเขา/ และถ้าเกิดว่าใครได้ทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้/ก็ย่อมแน่นอนว่าชายชราผู้นี้ย่อมต้องมีศัตรูอย่างแน่นอน/ แต่ก็ไม่มีใครทราบ เพราะใครเล่า!...”ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือผู้บริหารที่สามารถจินตนาการได้ว่า...ยังมีความบากบั่นอุตสาหะทีเต็มไปด้วยความกรุณาอันแสนงามอยู่บนโลกนี้” การทำงานของ “บุฟฟิเยร์”..จึงถือเป็นพันธกิจแห่งชีวิตอย่างแท้จริง...มันเป็นความโดดเดี่ยวจนกระทั่งถึงในบั้นปลายแห่งชีวิตของเขา../บั้นปลายแห่งชีวิตที่เขากลายเป็น “คนที่ไม่พูด”ไป ซึ่งภาวการณ์ตรงส่วนนี้อาจเป็นไปได้ที่เขาจะคิดว่า..จากการกระทำที่ผ่านมาทั้งหมด เขาไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไรอีกแล้วก็เป็นได้/”บุฟฟิเยร์” เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อปี ค.ศ.1947..ในสถานสงเคราะห์ผู้ยากไร้/เมื่อมีอายุได้ 87 ปี.. “คนปลูกต้นไม้” (The Man Who Planted Trees)..นวนิยายกึ่งสารคดีชีวิตของ “ฌ็อง ฌิโอโน”(Jean Giono)..แปลเป็นภาษาไทยโดย “กรรณิการ์ พรมเสาร์” นักแปลผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับขบวนการแห่ง “นิเวศทรรศน์” คนสำคัญของประเทศ..ถือเป็นผลงานแห่งการปลุกตื่นสำนึกแห่งยุคสมัย ที่สามารถทำให้ผู้คนในทุกหนทุกแห่งของโลกใบนี้/จักได้มีโอกาสตระหนักและเห็นค่าด้วยความหมายอันแท้จริงของต้นไม้..ไม่ใช่ด้วยสำนึกคิดแห่งมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นสำนึกที่ลึกซึ้งในความเข้าใจว่า “ต้นไม้เป็นเสมือนห่วงโซ่ชีวิตเปราะแรกที่ใช้ร้อยโยงให้ลูกโซ่ชีวิตทั้งมวลบนพื้นพิภพ ได้ดำเนินไปอย่างปกติ/...เมื่อต้นไม้ถูกโค่นล้มลงก็เท่ากับรากเหง้าของชีวิตได้ถูกทำลายลง ซึ่งก็แน่นอนว่า “..ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นย่อมส่งผลสะเทือนต่อวงจรห่วงโซ่แห่งชีวิตทั้งมวลจนอาจขาดสะบั้นลงได้/” ในวิถีแห่งความเป็นวรรณกรรม.. “คนปลูกต้นไม้” นับเป็นผลงานที่เรียบง่าย..ที่มีการเล่าเรื่องคล้ายดั่งการดำเนินไปของสารคดีชีวิต ซื่อตรง แม่นตรง กระชับ และสื่อนัยแห่งการรับรู้ด้านความรู้สึกได้อย่างมีพลัง/..เป็นงานเขียนที่มีเนื้อหาใจความเพียง 50 หน้าในความเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก..แต่กลับให้ความอิ่มเอมต่อการปลุกเร้า และเติมแต่งความถูกต้องแห่งการดำรงชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีอันดีงาม “ฌ็อง ฌิโอโน” ได้เน้นย้ำว่า..เขาสร้าง “บุฟฟิเยร์” ขึ้นมา ก็ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าเพื่อ “ให้คนรักต้นไม้หรือยิ่งกว่านั้นก็คือให้รักการปลูกต้นไม้”../ด้วยความมุ่งหวังเช่นนี้การสื่อแสดงในส่วนบทบาทแห่งชีวิตทั้งของ “ฌิโอโน” และ “บุฟฟิเยร์” จึงเต็มไปด้วยอุดมคติแห่งความคิดหวังในชีวิต “ความหวังจะต้องผลิบานได้ จากโครงสร้างของบทกวีและวรรณกรรม”/..นั่นคือความเชื่อมั่นและศรัทธาอันสำคัญที่ “ฌิโอโน” ยึดถือและนับถือ..มันส่งผลต่อนักเขียนถึงคำสอนทีว่า... “นักเขียนมีภาระหน้าที่ ที่จะต้องสร้างความหวังเพื่อที่เขาจะใช้สิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่..หากแต่มนุษย์มิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินหรือบ้านเช่าตลอดไป..เพราะสองขาของมนุษย์ยาวพอที่จะก้าวผ่านหญ้าสูงหรือท่องตามธารน้ำไหล/...ภาระหน้าที่ของนักเขียนคือ..ย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงความงามของต้นไม้ไหว..ยามสายลมจับต้อง เสียงสนครวญภายใต้หิมะ ณ ทางเดินในป่าเขา /รวมถึงความงามของหญ้าป่าสีขาวยามตะบึงข้ามยอดคลื่น” หากทุกคนตั้งใจอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความหวังแห่งศรัทธา...ก็ย่อมจักต้องพบกับเนื้อในแห่งความหมายของการดำรงชีวิตอยู่ที่แท้จริง ในความเป็นโลกและชีวิตอันมีคุณค่าได้อย่างแน่นอน “ชีวิตย่อมมีเวลาให้มนุษย์เร่งรุดติดตามความหวังเสมอ...เพราะในที่สุด..ความหวังจะต้องผลิบานได้..”