ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ความประทับใจที่สุดในชีวิตของผมคือ “ท้องนา” ท้องนาหรือทุ่งนาเป็นภาษาภาคกลาง แต่ทางภาคอีสานเรียกว่า “โทงน่า” ดังนั้นเมื่อจะไปท้องนาก็จะพูดสั้นๆ ว่า “ไปโทง” ซึ่งผมจะไปโทงกับย่าจันทร์แทบทุกวันที่เป็นวันหยุดเรียน โดยเฉพาะตอนปิดเทอมที่ได้ไปโทงนี้ทุกวัน ซึ่งเกียรติที่ได้รับสูงสุดก็คือได้ไปช่วยเลี้ยงควาย หลังจากที่ได้ใช้ไถนาบ้างในฤดูทำนา และลากเกวียนบ้างในฤดูเก็บเกี่ยว แต่ส่วนใหญ่ควายก็จะว่างงาน อย่างที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ว่างงานตามฤดูกาล” ดังนั้นชาวนาจึงไม่ได้ใช้ควายอย่างทารุณอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่กลับดูแลควายของตนเป็นอย่างดี ทั้งยามกินและยามนอน รวมถึงเฝ้าระวังป้องกันอันตรายจากโรคภัยและขโมยขโจรเป็นพิเศษ เพราะควายคือ “ทรัพย์สิน” ที่น่าจะมีความสำคัญรองลงมาจากบ้าน เพราะควายเป็นทั้งเครื่องมือทำมาหากินและ “เพื่อนยาก” ย่าจันทร์จะสอนให้ผมพูดกับควายเพราะๆ พูดใกล้ๆ ด้วยเสียงเบาๆ พูดไปก็ลูบคอลูบสีข้างไป โดยที่ย่าไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องโคนันทวิศาล แต่ย่าบอกว่าถ้าเราเมตตาควาย ควายก็เมตตาเรา เราเกิดมาต่างต้องพึ่งพากันและกัน ชาติก่อนทั้งเราและเขา(คือควาย)ก็เกิดร่วมกันมา ชาติก่อนเราเคยรับใช้ควาย ชาตินี้ควายก็มารับใช้เรา ย่าจะเรียกควายตัวผู้ว่าพ่อ และเรียกควายตัวเมียว่าแม่ เช่น พ่อตู้(ควายตัวใหญ่ๆ) แม่ด่อน(ควายเผือก) หรือถ้าเป็นลูกควายก็จะเรียกว่า “บักหล่า” คือลูกชาย และ “อีหล่า” คือลูกสาว เป็นต้น รวมถึงเวลาที่ “ปรนนิบัติควาย” เช่น อาบน้ำ หรือป้อนหญ้า ก็ให้ “สนทนา” หรือหาเรื่องมาพูดคุยกับควาย เช่น ขอโทษขออภัยที่ใช้งานหนักในวันนั้น หรือจะร้องเพลงให้ควายฟังก็ได้ โดยย่าบอกว่าควายชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ปู่ชาลีเป็นอีกคนหนึ่งที่สอนให้ผมปรนนิบัติควายให้ดีๆ เวลากลางคืนถ้าเป็นหน้าฝนยุงจะเยอะ ปู่จะให้ผมช่วยเอาทางมะพร้าวและกาบหมากมาสุมไฟข้างๆ คอกควาย แต่ให้ตั้งกองไฟทางทิศใต้ลม เพื่อให้ควันเพียงแค่มีควันกรุ่นๆ อยู่ใกล้ๆ คอกควาย เพราะถ้าไปก่อกองไฟไว้เหนือลมก็จะกลายเป็น “รมควันควาย” ทำให้ควายเจ็บป่วยได้ เวลาที่ควายเป็นแผล เช่น ถูกหนามเกี่ยว ก็ให้เอาครามที่ใช้ซักผ้ามาละลายน้ำจางๆ ทาแผลไม่ให้เน่าอักเสบ นอกจากนั้นก็ยังสอนให้ป้อนสมุนไพรคือใบไม้ชนิดต่างๆ เพื่อรักษาอาการไม่สบายของควาย เช่น ท้องผูก หรือท้องเฟ้อ(กินมาก) ซึ่งเรื่องนี้ผมจำอะไรไม่ค่อยได้ เนื่องจากพอถึงเวลาที่ควายเจ็บป่วยจริงๆ ปู่ก็จะเป็นคนลงมือทำเสียเอง ที่จำได้แม่นก็คือเทคนิคของการ “ขี่ควาย” ตั้งแต่เริ่มขึ้นขี่หลัง จะต้องตบที่สะโพกสักสี่ห้าที ควายก็จะย่อส่วนหลังลง พร้อมกับยื่นขาหลังให้เป็นขั้นบันได เราก็เหยียบที่หลังน่องขาหลัง เหยียบขึ้นไปที่โคนขาหลัง ก่อนที่จะเหวี่ยงขาไปอีกด้านของลำตัวควาย เราก็จะ “นั่งแท่น” อยู่บนหลังควายได้อย่างเรียบร้อย จากนั้นก็จับเชือกที่สนตะพายจมูกควายให้พอตึงๆ แต่อย่าดึงแรงมากไป กระตุกเชือกเบาๆ สัก 2-3 ครั้ง ควายก็จะออกตัวพาเราเดินออกไป อยากให้เลี้ยวซ้ายก็ดึงเชือกไปทางซ้าย และดึงไปทางขวาเมื่อต้องการให้ควายไปทางขวา ทั้งนี้ต้องดึงเบาๆ เพียงแค่ให้เชือกตึงๆ และกระตุกไปตามทิศทางต่างๆ เบาๆ เช่นกัน เพราะถ้าถึงแรงๆ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ควายออกกำลังมากขึ้น เช่น ถ้าดึงตรงๆ แรงๆ ก็คือบอกให้ควายเร่งความเร็ว จนถ้าดึงแรงๆ อย่างต่อเนื่องก็จะวิ่งเร็วมากๆ เช่นเดียวกันกับที่กระตุกซ้ายหรือขวาแรงๆ ก็คือการบังคับให้ควายหันหลังกลับตัวอย่างทันทีทันใดนั่นเอง นอกจากนี้ถ้าจะให้ควายเดินเร็วขึ้นก็แค่ใช้ส้นเท้ากระทุ้งเบาๆ ที่สีข้าง แต่ถ้ากระทุ้งแรงก็จะทำให้ควายพุ่งตัวไปข้างหน้าโดยเร็วเช่นกัน รวมถึงการใช้เสียง ถ้าจะให้ความเดินนิ่มๆ ก็พูดว่า “ฮึ่ยๆๆ” ด้วยเสียงพอได้ยิน แต่ถ้าเสียงดังพร้อมกับกระทุ้งสีข้างหรือดึงเชือกแรงๆ ก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม และถ้าจะให้ควายหยุดก็ดึงเชือกเข้าหาตัวเราตรงๆ ให้ตึงพอสมควร พร้อมกับพูดว่า “ยอ...” ยาวๆ หนีบขาของเราแนบสีข้างควายให้แน่น แต่ไม่กระทุ้ง ควายก็จะค่อยๆ ลดความเร็วลง และหยุดนิ่งในที่สุด สุดท้ายก็เอื้อมมือไปตบตะโพกเบาๆ ควายก็จะย่อตัวลง แล้วเราก็ค่อยเหยียบขาหลังลงไปเหมือนตอนขาขึ้น เมื่อลงถึงพื้นแล้วก็อย่าลืมลูบคอและสีข้างเบาๆ เพื่อเป็นการขอบคุณ ย่าบอกว่าถ้าเรา “ทำได้อย่างควาย” ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความสงบ เพราะควายเป็นสัตว์ที่มีความอดทน รู้หน้าที่ และกตัญญูรู้คุณ ความอดทนของควายนั้นคือการอยู่ได้ในทุกสภาพฟ้าดิน ทั้งอากาศร้อน ฝนตก ฟ้าหนาว ลมแรง ดินแข็ง หรือในป่าหนาม ควายก็ทำหน้าของควายได้ดีเสมอ ควายเข้าใจภาษาคน เรียนรู้ เชื่อฟัง และปฏิบัติตาม แม้ควายไม่ปริปากบ่นหรือส่งเสียงร้อง แต่ควายก็มีความรู้สึกที่อ่อนไหว ย่าบอกว่ายามหน้าแล้ง ดินแห้ง กันดารอดอยาก ควายก็ดูเหมือนจะเศร้าและมีความทุกข์ไปด้วย บางทีก็มีน้ำตาไหลออกมา บางครั้งน้ำท่วมนา ข้าวกล้าเสียหาย ควายก็แสดงอาการซึมอยู่นาน จนเมื่อน้ำท่าเป็นปกติ ควายก็ดูสดชื่นขึ้นมาทันที แสดงอาการกระฉับกระเฉงร่าเริง และลงมือทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทำให้เจ้าของมีความสุขไปด้วย อย่างที่ย่าเรียกว่าควายนั้นคือ “เพื่อนทุกข์เพื่อนยาก” ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเราไปในทุกสถานการณ์ ในหน้าแล้งปีหนึ่ง ผมพา “บักคำ” ควายวัยรุ่นที่ขนส่วนปลายทั้งตัวออกสีทองๆ กินหญ้าอยู่ตลอดบ่ายอยู่ในป่าโปร่งปลายนา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคก” พอตะวันต่ำลงเรี่ยปลายต้นไม้ชายป่าที่สูงราวๆ 2 ช่วงความสูงของตัวคน ก็หมายความว่าอีกสัก 2 ชั่วโมงตะวันก็จะตกดิน ผมก็พาควายบักคำไปรวมฝูงกับตัวอื่นๆ อีก 3 ตัวที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อตามกันกลับเข้าหมู่บ้าน โดยมีพ่อตู้ความอาวุโสตัวใหญ่สุดเป็นผู้นำ วันนั้นบังเอิญมีงูอะไรก็ไม่ทราบเลื้อยตัดหน้า บักคำตกใจกระโดดโหยง ทำให้ผมหล่นมาเจ็บจุกท้องอยู่พักใหญ่ บักคำส่งเสียงร้องดังกว่าปกติ จนผมพอพยุงตัวลุกขึ้นได้ ก็ไปลูบสีข้างบักคำๆ ก็ค่อยสงบขึ้น แต่ไม่ยอมให้ผมขึ้นขี่ ผมต้องไปขึ้นขี่พ่อตู้แทน จนกลับมาถึงบ้าน ย่าเห็นผมไม่ได้ขี่บักคำกลับบ้านเหมือนทุกวันก็ถามขึ้น ผมก็ตอบตามเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งย่าก็บอกว่าบักคำคงสำนึกผิด และกว่าที่ผมจะขึ้นขี่บักคำได้เหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลาอีกหลายวัน “คนกับควาย” มีความหมายมากกว่าสัตว์สองชนิดที่เกิดมาอยู่ร่วมกัน