พบกันและพลัดพราก เป็นกฏธรรมชาติ หลังถูกแรงดึงดูดของโลกให้มาโคจรเมื่อ 3 ปีก่อน เมษาฯ นี้จะถูกเหวี่ยงพ้นวงโคจร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Centre) ประกาศค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบโลก เปรียบเสมือดวงจันทร์ของโลกดวงใหม่ มีชื่อว่า 2020 CD3 ค้นพบโดยสองนักดาราศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา Theodore Pruyne และ Kacper Wierzchos เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.52 เมตร ณ หอดูดาว Mount Lemmon สหรัฐอเมริกา #ดาวเคราะห์น้อย2020CD3 มีขนาดประมาณ 1.9-3.5 เมตร มีวงโคจรรอบโลกด้วยคาบประมาณ 47 วัน เมื่อนักดาราศาสตร์วิเคราะห์วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว พบว่าถูกโลกดึงดูดให้มาโคจรรอบโลกเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว และในเดือนเมษายน 2563 ก็จะถูกเหวี่ยงออกไปจากวงโคจรของโลก ดาวเคราะห์น้อย 2020 CD3 จึงมีระยะเวลาในการเป็นดวงจันทร์ของโลกเพียงสามปีเท่านั้น (ดูแบบจำลองวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2020 CD3 ได้จากhttp://orbitsimulator.com/…/1582759771280_2020CD3_3_solutio…) อย่างไรก็ตาม...นักดาราศาสตร์ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ให้ดาวเคราะห์น้อย 2020 CD3 อยู่กลุ่มวัตถุบริวารตามธรรมชาติ (Natural satellite) ของโลกดังเช่น “ดวงจันทร์” แต่จัดเป็น #วัตถุบริวารชั่วคราวของโลก(Temporary satellite) ซึ่งขณะนี้ค้นพบแล้วกว่ากว่า 20 วัตถุ รวมถึงดาวเคราะห์น้อย 2016 HO3 ซึ่งถูกวงโคจรของโลกดึงดูดให้มาโคจรรอบโลกเช่นเดียวกัน แต่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2016 HO3 นั้นจะโคจรรอบโลกนานกว่าร้อยปี ปัจจุบัน NARIT มีการวิจัย ค้นหาวัตถุใกล้โลกและดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ ภายใต้ “โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ” วัตถุประสงค์หลักเพื่อเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ เก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล นำไปศึกษาวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้ เป็นศูนย์ข้อมูลการเตือนภัย รวมทั้งสร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยคุกคามจากวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศให้กับสาธารณชน เรียบเรียง : ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ - นักวิจัย NARIT ด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ อ้างอิง :https://www.minorplanetcenter.net/db_search/show_objecthttps://www.minorplanetcenter.net/mpec/K20/K20DA4.html https://twitter.com/tony873004 ภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page