เรื่อง :พัชรพรรณ โอภาสพินิจ ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ เมื่อการเมืองเดินเข้าสู่โรดแมป โค้งสุดท้าย หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามมา ขณะเดียวกันการเดินหน้าสร้างความปรองดอง การปฏิรูประเทศ ตลอดจนการทำยุทธศาสตร์ชาติยังคงเป็นภารกิจที่น่าสนใจและอยู่ในความสนใจของสังคม ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ถึงขั้นไหน อีกทั้งประเด็นที่หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้นั่นคือโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ จะเป็นอย่างไร อำนาจและบทบาทของ “กองทัพ” จากนี้จะเป็นเช่นใด “สยามรัฐ” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ “ยุทธพร อิสรชัย” อดีตรองอธิการบดี (ฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะวิเคราะห์และสะท้อนภาพการเมืองในช่วงโค้งสำคัญ ผ่านบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ - โรดแมปของคสช.เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว ล่าสุดมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 มองว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปจากนี้หรือไม่ อย่างไร หากพิจารณาจากโรดแมป จุดสำคัญที่ต้องจับตามองคือเรื่องการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะต่อจากนี้ไปอีก 240 วันนั้น จะเป็นเวลาที่สำคัญ รัฐธรรมนูญถือเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องของนามธรรม แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกก็จะเป็นเหมือนแขนขา เป็นบทขยายความต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติ มีอยู่ทั้งหมด 10 ฉบับ โดยฉบับที่สำคัญมี 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ,พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ,พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายทั้งหมดนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าทิศทางการเมืองทั้งหมดต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้โอกาสที่กฎหมายเหล่านี้จะผ่านสภานิติบัญญัติ (สนช.) น่าจะมีได้มากกว่า ดังนั้นโรดแมปคงไม่ไกลกว่าปี 2562 แน่นอน ส่วนปลายเดือนกันยายน 2561 เราจะได้เห็นหน้าตาที่ชัดเจนขึ้นของหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นจากกฎหมายลูก จากนั้นหลังการเลือกตั้ง ต้องจับตามองว่าสุดท้ายความขัดแย้งทางการเมืองนั้นจะกลับมาร้อนระอุอีกหรือไม่ และผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม เชื่อว่าการเคลื่อนไหวในทางการเมืองก็จะมีอีก การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ดูว่าน่าจะเป็นจุดที่น่ากังวลมากกว่า แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมา มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขเลย คือเรื่องการสร้างความเข้าใจ หรือการปรับความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม การที่เรามีเฉพาะกฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ หรือรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่สุดท้ายถ้าความเข้าใจของคนในสังคมยังไม่มี โอกาสที่จะทำให้เกิดขึ้น ความราบรื่นหลังการเลือกตั้งปี 2562 นั้น คงเป็นไปได้ยาก แม้แนวทางป.ย.ป. บอกว่าวันนี้การรับฟังความคิดเห็นจากจากพรรคการเมืองกว่า 50 พรรค และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ จนสุดท้ายนำไปสู่การลงนามในสัญญาประชาคมกัน แต่มองว่าเป็นเพียงกระดาษ ถ้าสุดท้ายแล้วการยอมรับ การรับฟังกัน เข้าใจกันไม่เกิดขึ้น ก็สามารถถูกฉีกทิ้งได้เสมอ - บรรยากาศ ทางการเมืองมีแนวโน้มจะกลับมาร้อนแรงก่อนเลือกตั้งอย่างไรบ้าง ก่อนการเลือกตั้งนับจากนี้ไปอีก 1 ปี เชื่อว่าจะยังไม่มีอะไร แต่เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็จะยิ่งทำให้พื้นที่ในทางการเมืองเริ่มร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เพราะจะมีผู้มีส่วนได้เสียเกิดขึ้น จะทำให้เราได้เห็นถึงภาพของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ทำให้เห็นทิศทางในการควบคุมตรวจสอบทางการเมืองโดยวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร พอถึงตอนนั้นการเมืองจะกลับมาร้อนระอุ ซึ่งคาดว่าจะอยู่หลังจากกลางปี 2561 เป็นต้นไป ถ้าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง - จากหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ พอจะบอกได้หรือไม่ว่า หลังเลือกตั้ง "รัฐบาล" จะมีโฉมหน้าอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในสภาเหมือนที่ผ่านมาในอดีต เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกล่องแห่งความฝันของคนในแต่ละยุค ที่อยากจะเห็นรัฐธรรมนูญแบบไหน อย่างเช่น ก่อนปี 2540 เราก็อยากเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ แต่พอพรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็งแต่การตรวจสอบไม่เข้มข้น จึงทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ในเรื่องเผด็จการรัฐสภา พอมาปี 2550 เราอยากให้กระบวนการตรวจสอบเข้มข้น เราจึงใส่บรรดาองค์กรตรวจสอบไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายกลายเป็นว่าองค์กรตรวจสอบมีอำนาจมากเกินไป พอมาครั้งนี้ เราบอกว่าปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากเสียงข้างมากลากไปในสภา การมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไป เราก็ไปลดทอนอำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง ลดทอนการเติบโตของพรรคการเมืองต่างๆ ลง ดังนั้นโอกาสที่อาจเกิดรัฐบาลเข้มแข็ง และรัฐบาลที่มีพรรคเดียวหรือน้อยพรรคก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะรัฐบาลผสมจะกลับมาอีกครั้ง ถ้าดูโดยกลไกวิธีการในการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนรัฐบาลผสม ซึ่งไม่เคยมีที่ใดในโลกใช้ ระบบนี้จะเห็นได้ว่าถ้าลองเทียบเคียงกับผลการเลือกตั้ง เมื่อปี 2554 พบว่าพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือพรรคขนาดกลาง - มีการพูดถึง "พรรคทหาร" ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จว่าจะต้องเกิดขึ้น โดยส่วนตัวแล้ว มองมีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้อย่างไร มองว่าพรรคทหาร ณ วันนี้เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว และกองทัพเองก็มีบทเรียนสูงว่ากระบวนการในการแทรกแซงทางการเมืองโดยตรงนั้นไม่ได้ส่งผลดีอะไร และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง เช่นพฤษภาทมิฬ ดังนั้นวันนี้ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ ในรูปแบบอื่น ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่าในช่วง 80 กว่าปีของประชาธิปไตยไทยมีพัฒนาการน้อยกว่ารัฐประหารด้วยซ้ำ จะเห็นว่าในอดีตเผด็จการมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รุนแรง แต่พอต่อมาก็เป็นการรัฐประหารโดยใช้ดอกกุหลาบ หรือรัฐประหารโดยการแต่งเพลง สุดท้ายแม้มีอำนาอย่างเข้มข้นตามมาตรา 44 แต่บางเรื่องก็ต้องถอย เช่น เรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย หรือนั่งท้ายรถกระบะ ถ้าสังคมไม่เอาด้วยก็ไม่ฝืนกระแสสังคม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าการเกิดพรรคทหารโดยตรงเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะไม่มี แต่การสนับสนุนในรูปแบบของการมีคณะกรรมการกำกับอาจเป็นไปได้ - การเลือกตั้งท้องถิ่น มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ และจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างไร เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันมานานว่า ตกลงจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน หรือเลือกตั้งส.ส.ก่อน และแบบไหนที่จะทำให้เกิดการตัดวงจร หรือความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมื่อระดับชาติได้ดีกว่ากัน ตอบได้เลยว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ หลายคนเข้าใจว่าการตัดวงจรนี้ให้เลือกตั้งส.ส.ก่อน เมื่อเลือกตั้งส.ส.แล้วทำให้ระบบหัวคะแนนหายไป เพราะนักการเมืองท้องถิ่นก็จะไม่มีอำนาจในการช่วยได้ บางคนให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เพราะท้องถิ่นเป็นฐานของประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ในเชิงฐานคะแนนเสียงหรือหัวคะแนนมันไม่ได้เกิดขึ้นกับนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น หัวคะแนนมีได้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นครู หมอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องหัวคะแนน หรือเครือข่ายคะแนนเสียงมันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสังคมไทยมากกว่า และเกิดจากลักษณะพื้นฐานทางสังคม และวัฒนธรรมไทย ที่เป็นเรื่องของการมีระบบเครือญาติ การพึ่งพาอาศัย การมีระบบอาวุโส เรื่องเหล่านี้มากกว่าที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเลือกก่อนหรือเลือกหลังถ้ายังไม่ตัดวงจรความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ออกไป ไม่สร้างวัฒนธรรมที่อำนวยต่อการเป็นประชาธิปไตย ต่อให้เลือกก่อนหรือเลือกหลังก็ยังคงมีระบบหัวคะแนนอยู่ การพึ่งพาระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเองระดับชาติ ก็ยังคงเหมือนเดิม - สถานการณ์ของพรรคการเมืองใด ที่ถือว่ามีความได้เปรียบและพรรคใดน่าเป็นห่วงบ้าง คิดว่าพรรคใหญ่มีความน่าเป็นห่วง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์เอง เพราะเชื่อว่ากลไกการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น คงจะทำให้สองพรรคใหญ่เสียที่นั่งจากเดิมไปพอสมควร ขณะที่พรรคเล็กได้เพิ่ม แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือการเกิดพรรคสาขาที่แตกออกมา เหมือนบริษัทลูกที่อยู่ในเครือต่างๆ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ เคลื่อนไหวลำบาก จึงมีการแตกตัวออกมาเป็นบริษัทลูก แต่ก็อยู่ในเครือใหญ่ สุดท้ายพรรคการเมืองไทยก็ก้าวไปสู่จุดเดิม การแตกเป็นพรรคลูก แต่สุดท้ายก็ไปรวมกันที่รัฐสภาอยู่ดี มันยิ่งทำให้การเมืองเข้าสู่สภาวะต่างตอบแทน การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ภาวะการต่อรองเชิงอำนาจมากยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ - อาจารย์มีข้อเสนอแนะ มีข้อสังเกตอะไรที่อยากชี้แนะสำหรับทุกฝ่ายในสังคมอย่างไรบ้างหรือไม่ เพื่อทำให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ต่อไปอย่างราบรื่น ที่สุด เราต้องทำให้เกิดการถอยคนละก้าว ควรต้องกลับไปอยู่กับปัญหาของตัวเอง ทั้งชุมชน ท้องถิ่นล้วนเป็นส่วนสำคัญ ถ้าทุกคนเอาตัวเองไปผูกติดกับการเมืองระดับชาติ ความขัดแย้งมันจะยิ่งมีมากขึ้นกว่านี้ สุดท้ายคงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และพัฒนาทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม เพราะถ้าเรามองว่าประชาชนยังไม่พร้อมยังโง่จนเจ็บอยู่โอกาสที่จะทำให้สังคมเดินหน้ามันเป็นไปได้ยาก วันนี้ประชาชนพร้อมแล้ว แต่คนที่มีอำนาจต่างหากที่จะต้องพร้อมกับตัวเอง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย ลองผิดลองถูกบ้าง เดี๋ยวก็นำไปสู่ปลายทางการเกิดประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง และแท้จริงไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยรัฐ