“มาตรฐานการศึกษา สะท้อนมาตรฐานชาติ” หากจะกล่าวแบบนี้ก็คงจะไม่แปลกนัก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านศักยภาพของการศึกษาและศักยภาพของชาติไปพร้อมๆ กัน หน่วยงานภาครัฐจึงได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขึ้นมา เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปใช้ในการผลิตนักเรียนออกมาสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยที่มาตรฐานการศึกษานั้นก็จะต้องสร้างความสุข และความพึงพอใจแก่ตัวผู้เรียนในระหว่างที่เรียนหนังสือไปด้วย แต่การที่จะยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะสถานศึกษาได้ว่าควรจะพัฒนาในด้านใดต่อไป เพื่อให้สถานศึกษามีศักยภาพ มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน ควบคู่ไปกับสิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้ ภายใต้การใช้มาตรฐานการศึกษาในการกำหนดทิศทาง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ประเมินคุณภาพการศึกษา มีหน้าที่ขับเคลื่อนให้สถานศึกษารักษามาตรฐานให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่สถานศึกษา เพื่อให้นำไปปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้เรียน และสถานศึกษา ทั้งนี้ มีมุมมองมาตรฐานการศึกษาไทยในปี 63 กับน.ส.ขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หนึ่งในบุคคลที่มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทย น.ส.ขนิษฐากล่าวว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ผู้เรียนรู้ 2.ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม 3.พลเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษานำไปวางแผนสำหรับพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้การศึกษาถูกขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ โดยสามารถกำหนดมาตรฐานของสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาในระดับนั้นๆ ไปกำหนดไว้ตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ผลลัพธ์ตามที่สถานศึกษาตั้งเป้าหมาย โดยสิ่งที่ปรากฏผ่านตัวผู้เรียนนั้นจะเป็นตัวสะท้อนว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ การที่สถานศึกษาจะทำตามมาตรฐานได้หรือไม่นั้น จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ สนับสนุนด้วย เช่น ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน การสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานภาครัฐ และเมื่อได้รับข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สถานศึกษาและหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องนำข้อเสนอแนะไปใช้วางแผนพัฒนา โดยนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ในปี 2563 สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างมาตรฐานและการประเมินคุณภาพนั้นโรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองได้ เพื่อที่สมศ.จะได้เข้าไปสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นไป และในปี 2563 เป็นปีสุดท้ายสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (2559-2563) โดยสมศ.ยังคงเดินหน้าลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประเมินคุณภาพการศึกษา จากการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่าผลการประเมินของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนมากอยู่ในระดับดีมากและดีเยี่ยม ดังนั้น ในปีนี้สมศ.จะเน้นกระตุ้นสถานศึกษาให้เล็งเห็นความสำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษาผ่านแนวทางการยกระดับกระบวนการคิดและการทำงานทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ยกระดับให้หน่วยงานต้นสังกัดเห็นความสำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษา และเข้าสู่ระบบการประเมินมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบการประเมินภายนอกมีส่วนพัฒนาสถานศึกษาและผู้เรียนให้โดดเด่นและมีประสิทธิภาพ ยกระดับการสร้างความเข้าใจว่าการประเมินคุณภาพรอบนี้เป็นการประเมินเชิงคุณภาพ และเป็นกัลยาณมิตร เพื่อลดความกังวลและลดภาระในการประเมินของครู อาจารย์ ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีความประสงค์ที่จะขอเข้ารับการประเมินมากยิ่งขึ้น ยกระดับการให้ความสำคัญกับการติดตามการนำผลการประเมินไปใช้ของสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการสะท้อนว่าการประเมินนั้นช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษาได้จริง โดยสมศ.จะต้องมีกระบวนการติดตามว่าโรงเรียนแต่ละแห่งนำผลประเมินไปปรับใช้หรือไม่ และหากนำไปใช้แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร “การประเมินคุณภาพสถานศึกษาถือว่าเป็นอีกหนึ่งประการที่สำคัญสำหรับการยกระดับมาตรฐานการศึกษา โดยสมศ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านประเมินคุณภาพภายนอก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาเกณฑ์การประเมิน ตัวผู้ประเมิน ด้วยการอบรมและสร้างความเข้าใจกับผู้ประเมินภายนอกให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินภายนอก พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในตัวผู้ประเมินภายนอกให้มีมิติมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการประเมินให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกเข้าไปทำความเข้าใจกับสถานศึกษา ครูผู้สอน และบุคลกรทางการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง รวมทั้งแนะนำแนวทางที่สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนและสถานศึกษา ซึ่งการประเมินภายนอกรอบ 4 สมศ.ได้ดำเนินการประเมินแบบกัลยาณมิตรโดยเน้นส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ได้จริง เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากสถานศึกษาแต่ละแห่งมีประสิทธิและศักยภาพมากพอก็จะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยให้ดีขึ้นตามไปด้วย ” น.ส.ขนิษฐา กล่าวทิ้งท้าย