"ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมงตรัง (pipo-trang) จ.ตรัง"จับมือ"ประมงพาณิชย์จัดกิจกรรม “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” เพื่อนำขยะที่เกิดจากคนประจำเรือ และขยะที่ติดมากับเครื่องมือประมงกลับขึ้นฝั่ง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563  ที่ลานเฉลิมพระเกียรติ ท่าน้ำกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมงตรัง (pipo-trang)อ.กันตัง จ.ตรัง  ร่วมกับตัวแทนสมาคมประมงกันตัง ทั้งไต๋ก๋งเรือ เจ้าของกิจการแพปลา เจ้าของเรือประมงพาณิชย จัดกิจกรรม “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” โดยมีนายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดตรังเป็นประธาน   เพื่อลดขยะทะเลจากภาคการประมง ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ สอดรับตามปฏิญญากรุงเทพๆ ว่าด้วยการต่อต้านขยะในภูมิภาคอาเซียน ตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34  ได้รับความร่วมมือจากเรือประมงลงทะเบียนร่วมกิจกรม  จำนวน 120 ราย ของเรือประมงที่แจ้งเข้า-ออก 189 ลำ น.ส.อรวรรณ สร้อยจักร อายุ  51 ปี เจ้าของเรือเชิดชัยรุ่งโรจน์ 99     กล่าวว่า  เดิมไต๋ก๋งเรือและลูกเรือก็เก็บขยะที่นำลงไปกลับคืนอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมงตรัง จัดโครงการ "ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา" ขึ้นมา ทำให้ลูกเรือทุกคนให้ความร่วมมือและตระหนักความสำคัญกันมากขึ้น ทุกคนรู้จักคัดแยกขยะของตนเอง และเก็บขยะที่ติดมากับอวนกลับขึ้นฝั่งมาด้วย ทำให้รู้สึกดีมาก และยินดีมากที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลความสะอาดท้องทะเล  ด้านนายเรืองแสน กลีบประทุม อายุ 58 ปี เจ้าของแพ,เจ้าของเรือถนอมวงศ์นำโชคชกล่าวว่า เดิมก็ทำอยู่แล้วในการนำขยะที่นำลงไปกลับเข้าฝั่ง แต่หลังจากศูนย์ pipo-trang ขอความร่วมมือทำให้การเก็บขยะคืนฝั่งเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทุกคนให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะลูกเรือซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งจากเดิมอาจจะทำบ้างไม่ทำบ้าง ซึ่งอาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ แต่ได้บอกกับทางไต๋และเจ้าหน้าที่ว่าช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตรวจเรือขณะกลับเข้าฝั่ง ให้ล่ามแปลให้ฟังด้วย เพื่อปลูกจิตสำนึกของทุกคน ทำให้ขณะนี้ทุกคนตระหนักมากขึ้น ขณะที่ นายเชิดชัย  จำเนียรสุข  อายุ 56 ปี  ไต๋ก๋งเรือ กล่าวว่า เดิมลูกเรือต่างด้าวจะไม่ค่อยรู้แต่ขณะนี้เขาเริ่มรู้และให้ความร่วมมือมากขึ้นกว่าก่อนมาก ทำให้ขยะที่เก็บขึ้นมาก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มเห็นความสำคัญ จึงให้ความร่วมมือมากขึ้น ด้านนางพัชรี พันธุเล่ง  หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมงตรัง  กล่าวว่า  กิจกรรมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณนี้ แต่ทางศูนย์ฯเองได้มีการรณรงค์ให้เก็บขยะกลับคืนฝั่งมานานแล้ว สำหรับเรือประมงพาณิชย์ ความร่วมมือดีมาก ซึ่งเรือประมงพาณิชย์มีจดทะเบียนในจังหวัดตรังจำนวน  221 ลำ ขณะนี้ให้ความร่วมมือแล้วประมาณ 65 % ส่วนเรือที่เหลืออาจจะเป็นเพราะยังไม่ได้มีการลงทะเบียนเข้าร่วม แต่ในทางปฏิบัติจริงมีการเก็บคืนมาอยู่แล้ว และยิ่งมีทางศูนย์ฯมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  โดยแรกเริ่มทาง pipo ก็จะให้คิวอาร์โค๊ตลงทะเบียนร่วมโครงการ  หลังจากนั้นเรือประมงทุกลำได้รายงานขยะคืนฝั่งผ่านทาง OR code หรือเว็บไซด์ โดยมีศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงตรังเป็นผู้แล  "ขยะที่ได้มาส่วนใหญ่จะเป็นประเภท เศษอวน ขวดพลาสติก และขวดแก้ว  ตามลำดับ  ส่วนที่แพ ก็จะมีการจัดจุดรวบรวมขยะจากทะเล และคัดแยกขยะ  โดยที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์อาจตกเป็นจำเลยว่าเป็นบ่อเกิดขยะกลางทะเล แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ตระหนักและปรับวิธีคิดเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวประมงในการจัดการขยะนำกลับคืนฝั่ง ลดการนำหรือใช้ภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะย่อยสลายยาก ร่วมกันคืนความสะอาดและความสวยงามให้กับท้องทะเลไทย และไม่เป็นภัยกับสัตว์ทะเล"นางพัชรี กล่าว