หวิดวุ่นวายกันกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อตัวจี๊ดของพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เริ่มต้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจปมถวายสัตย์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนเป็นเหตุให้ส.ส.จากฝั่งรัฐบาลต่างยกมือรุมประท้วง จนในที่สุด ทำให้ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงตัดบทให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดต่อ แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังพยายามพูดเรื่องการถวายสัตย์ต่อ ทำให้ ศุภชัยไม่ให้พูดต่อ พร้อมระบุว่า “ให้เลือกเอาจะอภิปรายเรื่องอื่นหรือจะให้เชิญออกจากห้องประชุม ผมไม่ได้ขู่ แต่เอาจริง” ทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ สวนขึ้นมาทันทีว่า “หากจะเอาจริงก็ให้ไปเจอกันนอกสภา” ซึ่งศุภชัย ตอกกลับทันทีเช่นกันว่า “ไม่ต้องห่วง ผมไม่เคยกลัว หากมีคนบอกว่าท่านคือ วีรบุรุษนาแก ผมก็ สหายแสง อย่ามาขู่กัน” ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมตึงเครียดขึ้นมาทันที สำหรับที่มาของคำว่า “สหายแสง” มาจากสมัยที่ ศุภชัย เรียนประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาต้น วิทยาลัยครูสกลนคร ศุภชัย ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นดาวไฮปาร์คของกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาสกลนคร จากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ศุภชัย ได้หลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองสมัยนั้น เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ภูพาน โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายแสง” ในช่วงปี 2519-2523 เนื่องจาก "สหายแสง" เป็นคนพื้นถิ่นจัดตั้ง จึงส่งสหายแสง มาเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนในเขต อ.นาแก อ.เรณูนคร และ อ.ปลาปาก ซึ่งบางหมู่บ้าน บางตำบลอยู่ในการดูแลของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผู้ได้ฉายา “วีรบุรุษนาแก” ต่อมาปี 2524 สหายแสงคืนสู่เหย้า ตามนโยบาย 66/2523 ได้กลับเข้าเรียนหนังสือและรับราชการเป็นครูที่บ้านเกิด อ.ศรีสงคราม ชาวบ้านจึงรู้จักในนาม “ครูแก้ว”โลดแล่นบนถนนสายการเมือง จนมาถึงบัดนี้