หนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่สำคัญของ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คือมุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงนอกเหนือจากการศึกษาผ่านตำรา เพื่อสร้างทักษะและประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน รายวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร สาขาเชฟอาหารไทย ประเภทวิชาคหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งรายวิชาที่สามารถตอบโจทย์แนวคิดการลงมือปฏิบัติจริงได้เป็นอย่างดี ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า ทางโรงเรียนมุ่งเน้นให้นักเรียนและนักศึกษาทุกประเภทสาขาวิชา ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้เรียนรู้ผ่านการลงมือจริงควบคู่กับการศึกษาในห้องเรียน เพื่อที่นำความรู้มาประยุกต์ใช้ ต่อยอด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนนักศึกษาจดจำ เรียนรู้ และเข้าใจในบทเรียนรวดเร็ว เช่น รายวิชาธุรกิจจัดเลี้ยง ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 2 สาขางานเชฟอาหารไทย ประเภทวิชาคหกรรม ที่หลังจากจบการเรียนทฤษฎีจากอาจารย์แล้วนักศึกษาต้องเปิดร้านอาหารสาธิตได้ โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาเป็นแนวทางปฎิบัติ วิธีการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริงจะช่วยสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนนักศึกษาโดยตรง โดยมีครูผู้สอนเป็นที่ปรึกษา เมื่อนักเรียนนักศึกษาต้องออกไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการจะส่งผลให้การเรียนรู้ระบบงาน การแก้ปัญหา และการปรับตัวมีความรวดเร็วกว่านักเรียนนักศึกษาที่เรียนเฉพาะตำราเรียนอย่างเดียว นายฐานริส นุสดิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาเชฟอาหารไทย เล่าถึงกระบวนการเตรียมงานว่าทีมงานได้ร่วมกันวางแผนจัดคอร์สอาหาร ซึ่งแบ่งเป็นคอร์ส A และคอร์ส B แต่ละคอร์สจะมีเมนูอาหารทานเล่น อาหารจานหลัก ซุป และของหวานที่แตกต่างกัน จากนั้นทำการสำรวจโดยให้ครู นักเรียนและนักศึกษาทำแบบสำรวจจำนวน 50 ชุด เพื่อหาว่าคอร์สอาหารคอร์สใดได้รับความสนใจมากที่สุด ผลปรากฏว่าทั้ง 2 คอร์สได้รับความนิยมเท่ากัน ทีมงาน จึงคัดเลือกเมนูอาหารที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละคอร์สมาเป็นอาหารของร้านสาธิต “รสไทยไฮโซ” ได้แก่ เมนูพล่ากุ้ง สำหรับเรียกน้ำย่อย เมนูซุป 3 กษัตริย์ ปรุงจากเนื้อสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ กุ้ง หมู และไก่ โดยใช้น้ำสต็อกไก่ที่ตุ๋นพร้อม 3 เกลอ คือ กระเทียม พริกไทยดำ และรากผักชี เมนูจานหลักคือข้าวสวย น้ำดอกอัญชัญทานคู่กับแกงปูใบชะพลู และปลากะพงฟูซอส 3 รส ปิดท้ายด้วยของหวานเมนูไดฟูกุหยกมณีสตรอว์เบอร์รี ของหวานสไตล์ฟิวชั่นที่ผสมผสานความเป็นไทยและญี่ปุ่นอย่างลงตัว มาพร้อมกับเครื่องดื่มสุดพิเศษน้ำตะไคร้อัญชัน เมื่อได้เมนูอาหารแล้วจึงวางแผนการเลือกใช้วัตถุดิบ การคำนวณวัตถุดิบ การซื้อวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การปรุง การออกแบบการนำเสนออาหาร (Food Stylist) การคิดราคาคอร์ส การตกแต่งสถานที่ การจัดโต๊ะอาหาร การคำนวณต้นทุนกำไร การขายคอร์ส การดูแลลูกค้า และการบริการระหว่างมื้ออาหาร เป็นต้น ส่วนที่ยากที่สุดคือการวางแผนการจัดเตรียมร้าน เพราะต้องคำนึงถึงโทนสี รสชาติ ความเข้ากันของบรรยากาศกับเมนูอาหาร และความเป็นไปได้ สำหรับที่มาของชื่อ "รสไทยไฮโซ" คือต้องการนำเสนอถึงความแปลกใหม่ ความน่าสนใจของอาหารไทยที่ต่างจากรูปแบบเดิมๆ โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐาน HACCP Hazard Analysis Critical Control Point คือ มาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ (biological hazard) จุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) อันตรายทางเคมี (chemical hazard) และอันตรายทางกายภาพ (physical hazard)