หนึ่งในความลึกลับของห้วงอวกาศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “พบ Fast Radio Burst ที่มีแบบแผนครั้งแรกของโลก! 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กล้องโทรทรรศน์วิทยุ CHIME ตรวจพบสัญญาณคลื่นวิทยุ FRB ที่มีรูปแบบเป็นคาบ 16 วัน “FRB” หรือ “Fast Radio Burst” คือ คลื่นวิทยุที่สว่างวาบในช่วงเวลาสั้น ๆ ระดับมิลลิวินาทีแล้วจางหายไป เกิดขึ้นในอวกาศนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดขึ้นบริเวณไหนบนท้องฟ้า ยากต่อการระบุตำแหน่ง จึงเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ลึกลับที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากกระบวนการหรือวัตถุประเภทใด เบื้องต้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากวัตถุในอวกาศชนกัน ล่าสุด กล้องโทรทรรศน์วิทยุ CHIME ค้นพบ FRB ที่เกิดขึ้นซ้ำที่เดิมเป็นรูปแบบ 16 วัน กล่าวคือ คลื่นวิทยุปรากฏขึ้นประมาณชั่วโมงละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 วัน หลังจากนั้นสัญญาณจะหายและเว้นช่วงไปเป็นเวลา 12 วัน ก่อนที่จะเกิดคลื่นวิทยุขึ้นมาเป็นรอบใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่พบ FRB ปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมาอย่างเป็นรูปแบบ สามารถคำนวณหาตำแหน่งของแหล่งกำเนิดได้พบว่ามาจากกาแล็กซีรูปทรงกังหันที่อยู่ห่างจากโลก 500 ล้านปีแสง โดย FRB นี้มีชื่อในแคตตาล็อกคือ “FRB 180916.J0158+65” ความน่าสนใจของ FRB ในครั้งนี้คือ รูปแบบการเกิดซ้ำๆ ที่ตรวจจับได้ อาจเกิดจากวัตถุท้องฟ้าที่โคจรรอบกันและกัน จึงทำให้มีบางช่วงเวลาที่คลื่นวิทยุจะถูกบดบังโดยวัตถุท้องฟ้าอีกวัตถุหนึ่ง หรืออาจเกิดจากวัตถุท้องฟ้าบางชนิดที่หมุนรอบตัวเองเป็นคาบคงที่ ซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานก่อนหน้าที่บอกว่าเกิดจากวัตถุชนกัน นับตั้งแต่การค้นพบ FRB ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน มีการตรวจจับสัญญาณ FRB และยืนยันแล้วประมาณ 119 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มี FRB ที่เกิดขึ้นซ้ำที่เดิมอยู่ 21 ครั้ง และมีเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวที่เกิดอย่างเป็นรูปแบบคงที่ การค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการปะติดปะต่อเรื่องราวของคลื่นวิทยุปริศนานี้ ในช่วง 23 - 27 มีนาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทย นำโดย NARIT กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ “Fast Radio Burst 2020 Thailand Meeting” รวมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้าน FRB จากทั่วโลกกว่า 150 คน รวมถึง Ducan Lorimer ผู้ค้นพบ FRB คนแรก และ Victoria Kaspi หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุ CHIME ที่ตรวจพบสัญญาณคลื่นวิทยุแบบคาบ 16 วัน จะมาร่วมกันอัพเดทความคืบหน้าการศึกษาด้าน FRB แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเตรียมรับมือกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยพาเราเข้าใกล้ความลับของเอกภพมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ดาราศาสตร์ระดับโลกที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://frb2020.phys.wvu.edu/index.html เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://arxiv.org/abs/2001.10275 [2] https://phys.org/news/2020-02-fast-radio-steady-day.html [3] https://www.nature.com/immers…/d41586-019-03749-0/index.html [4] http://frbcat.org/