“CKP”เผยผลประกอบการปี 62 มีรายได้รวม 8,840 ล้านบาท สร้างผลกำไร 769 ล้านบาท เติบโต 28% เมื่อเทียบกับปี 61 หลังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มั่นใจปี 63 เติบโตต่อเนื่อง การันตีความเชื่อมั่นโรงไฟฟ้าเติบโตควบคู่การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อหลักทรัพย์ “CKP” เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2562 มีรายได้รวม 8,840 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28% อยู่ที่จำนวน 769 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2562 มีรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าสถานีไฟฟ้าย่อยนาบง ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2561 และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่ได้เริ่มซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้วตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.62 เป็นไปตามกำหนดเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. นอกจากนี้ บริษัทได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 พ.ค.63 โดยในปี 2562 CKPower ยังได้เปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา รวม 5 โครงการคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตติดตั้ง 0.89 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บางเลน จังหวัดนครปฐม กำลังการผลิตติดตั้ง 0.97 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม กำลังการผลิตติดตั้ง 0.97 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 0.72 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 0.52 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบริษัทได้ดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด อีกร้อยละ 5.33 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเพิ่มเติมรวม 681.5 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมในโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จาก 42.0 % เป็น 46.0% นอกจากนี้มีการปรับโครงสร้างทางการเงินปี 2562 บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (“NN2”) ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ จำนวนรวม 6,000 ล้านบาท โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (“ทริสเรทติ้ง”)จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 ที่อันดับ “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดอื่นๆทั้งหมดของ NN2 เป็นอันดับ “A” และมีแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” โดย NN2 ได้นำเงินจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินที่เหลือทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ขณะเดียวกันบริษัทยังได้มีการทยอยรับเงินจองซื้อหุ้นสามัญจากการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ CKP-W1 จำนวน 4,556 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม(Net Interest-Bearing Debt to Equity Ratio) อยู่ที่ 0.62 เท่า ณ สิ้นปี 2562 แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงิน พร้อมที่จะลงทุนในโครงการใหม่เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง นายธนวัฒน์กล่าวต่อว่า ในปี 2563 บริษัทคาดว่าจะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เต็มกำลังผลิตตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจด้านผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป “สิ่งหนึ่งที่บริษัทได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การมุ่งมั่นต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยถือเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด ซึ่งตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UNSDG : United Nations Sustainable Development Goals)ผ่านกิจกรรมต่างๆครอบคลุมทั้งในประเทศและ สปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรงไฟฟ้าเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” สำหรับ CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่านบริษัทเซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัทบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัทนครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์