รุ่งทิวา ปัญญาอุด มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ลมเย็นๆ ยามบ่ายของปลายฤดูหนาวพัดผ่านยอดดอยสู่หุบเขาเบื้องล่าง ซอยแคบและชัน ตัดแยกจากถนนหลักลงสู่หมู่บ้านเล็กๆ ริมถนนสายแม่จัน-แม่อาย เมื่อเลี้ยวซ้ายจากซอยเล็กๆ นั้น คือบ้านไม้ไผ่สองชั้นของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายอาข่า ( อีก้อ) ในหมู่บ้านกิ่วสะไต อ.แม่จัน จ.เชียงราย บริเวณลานหน้าบ้าน แม่เฒ่าร่างเล็กคนหนึ่งนั่งเงียบๆ อยู่บนเก้าอี้ โดยมีลูกชายวัย 52 เดินไป-มา ทำงานจิปาถะในบ้าน และคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง “แม่แก่มากแล้ว ตาก็บอด ดูแลตัวเองไม่ได้ ผมและเมียต้องสลับกันเฝ้าตลอด จะไปไร่ หรือไปธุระ ก็ไปได้ทีละคน เราไม่อยากทิ้งท่านไว้ที่บ้านคนเดียว” นายอาผ่า เบเชกู่ ลูกชายแม่เฒ่าเล่าพวกเราให้ฟัง เราพบกับนายอาผ่า เมื่อเดือนมกราคม 2563 โดยเขาได้เอาบัตรประจำตัวของแม่เฒ่ายื่นให้ดู นั่นคือ “บัตรเขียวขอบแดง” ซึ่งเป็นบัตรสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูง โดยที่แม่เฒ่าไม่เคยได้มีโอกาสถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ในฐานะคนไทย ทั้งๆ ที่เกิดบนแผ่นดินไทย แม่เฒ่าตาเมอ เบเชกู่ หรือที่คนในหมู่บ้านเรียกแกว่า “อาผี่ตาเมอ” เป็นชาติพันธุ์ชาวอาข่า วัย 91 ปี เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศไทยใกล้ชายแดนไทย-พม่า ในเขตอ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แต่งงานกับนายอากอ เบเชกู่ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) มีบุตร 3 คน คือ นายอาโย เบเชกู่ อายุ 60 ปี ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (0-89) นายอาผ่า เบเชกู่ อายุ 52 ปี ถือสัญชาติไทย และนางหมี่จู เบเชกู่ อายุ 48 ปี ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (0-89) แม่เฒ่าตาเมอ ได้ย้ายจากหมู่บ้านเดิม เข้ามาตั้งรกรากที่หมู่บ้านกิ่วสะไต เมื่ออายุประมาณ 50 ปี โดยมีญาติพี่น้องที่ได้ย้ายมาก่อนหน้าและแนะนำให้มาอยู่ด้วยกันที่นี่ เนื่องจากหนีความแห้งแล้ง และภัยสงครามบริเวณชายแดนไทยพม่าในยุคนั้น เพื่อหาที่เหมาะสมในการตั้งบ้านเรือน ครอบครัวของแม่เฒ่าได้อยู่ปักหลักอยู่ที่บ้านกิ่วสะไตกว่า 43 ปี โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ข้าว ข้าวโพด และเย็บปักถักร้อยงานฝีมือของหญิงอาข่า ลูกชายของแม่เฒ่าเล่าว่าก่อนหน้านั้นเคยดำเนินชีวิตทำมาหากินได้ตามปกติ แต่ในปีที่ย้ายมาอยู่กิ่วสะไตปีแรก แม่เฒ่าได้ไปหาของป่า เก็บฟืนและประสบอุบัติเหตุ ไม้ฟืนจิ้มเข้าที่ตา ตอนนั้นคิดว่าไม่เป็นอะไร ประกอบกับความห่างไกล จึงไม่ได้ไปหาหมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตาอักเสบและบอดจนถึงปัจจุบัน ก่อนนั้นแม่เฒ่ายังพอดำเนินชีวิตได้ปกติเพราะยังมีดวงตาอีกข้างที่มองเห็น แต่เมื่อหลายปีก่อน ตาอีกข้างได้ฝ้าฟางทำให้มองได้ลางๆ หรือแทบไม่เห็นเลย ด้วยเหตุที่ตาบอด เมื่อมีการทำบัตรประชาชนให้แก่ชาวบ้านกิ่วสะไต แม่เฒ่าซึ่งเดินทางได้ไม่สะดวก และในยุคนั้นยังไม่มีรถคิว ไม่มีรถโดยสาร ถนนหนทางเดินทางมาอำเภอยากลำบาก จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ “ผมและเมีย สลับกันคอยดูแลท่าน แม่แก่มาก และช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ตอนนี้ร่างกายท่านอ่อนแรง ยิ่งตาบอด ยิ่งทำอะไรได้ลำบาก เราต้องคอยหาข้าวให้แม่กินเป็นประจำทุกวัน ทำให้แต่ละวันทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะห่วงแม่” นายอาผ่าเล่าถึงชีวิตประจำวัน ในอดีตแม่เฒ่าเคยขึ้นทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ของกรมประชาสงเคราะห์ สิทธิที่แม่เฒ่าพึงได้รับ คืดสิทธิแห่งชาวเขาดั่งเดิมติดแผ่นดิน ที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ “ใครมาจากไหน คุยอะไรกัน” แม้แม่เฒ่าตาเมอหันมาถาม แม้แกตาบอด แต่หูยังใช้การได้ดี เมื่อมีเสียงกระซิบข้างหูว่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) มาเยี่ยม และจะติดต่อให้หมอมารักษาและตรวจดูอาการ แม่เฒ่าจึงย้ำสาเหตุให้ฟังว่า “เมื่อก่อนไปเอาฟืนโดนไม้ทิ่ม ตาเลยบอด” “เขาจะมาดูให้เหรอ เสียตังมั้ย ถ้าเสียเงินมากๆ ไม่ต้องรักษานะ โดนไม้ทิ่มตานานแล้ว รักษาไม่หายแล้ว” แม่เฒ่าบอกกับลูกชายด้วยน้ำเสียงกังวล และได้รับคำตอบว่า “เขาพยายามทำบัตรประชาชนให้ แม่จะได้รับสิทธิในการรักษา และสิทธิผู้พิการ” “เสียเงินมั้ย เสียเงินไม่เอานะ” แม่เฒ่าย้ำด้วยน้ำเสียงกังวลเพราะกลัวลูกต้องเสียค่าใช้จ่ายและมีภาระเพิ่ม สิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ตราบใดที่เรายังเป็นคน ไม่ว่าจะมีความเชื่ออะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหน แต่ที่น่าแปลกใจคือสิ่งเหล่านี้กลับยังไม่เกิดกับแม่เฒ่าตาเมอ