รมว.คมนาคม แจงละเอียดยิบ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เอื้อเอกชนใดทั้งสิ้น 31 บริษัทเข้าซื้อเอกสาร และเงื่อนไขการเจรจากับเอกชนอยู่ในกรอบที่กำหนด อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว พร้อมเผย รัฐบาล ศึกษาเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหนือ อีสาน ตะวันตก และภาคใต้ เพื่อนำความเจริญให้คนไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ยืนยันว่า โครงการไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดทั้งสิ้น การทำสัญญา ไม่เอื้อเอกชน นายศักดิ์สยาม ชี้แจงเรื่องความสัมพันธ์ของนายกรัฐมนตรี กับบริษัทเอกชน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการเอื้อให้กับบริษัทเอกชนใดบริษัทหนึ่ง เพราะมีเอกชนซื้อเอกสารการคัดเลือกถึง 31 ราย เป็นการพิจารณาคัดเลือกเอกชนโดยอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ประเทศ และขอรับเงินสนับสนุนน้อยที่สุด ส่วนรูปแบบการประมูลมัดรวม ไม่แยกการพัฒนาโครงสร้าง กับการพัฒนาที่ดินเข้าด้วยกัน รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า เป็นการนำเอาศักยภาพของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อลดภาระงบประมาณเงินสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนที่มีข้อกล่าวหาที่ว่าการเซ็นสัญญาล่าช้า มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการส่งมอบที่ดิน มีการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่กำหนดในเอกสารคัดเลือก นั้น นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า เพราะเอกสารการคัดเลือกเอกชนได้กำหนดไว้ว่าให้ส่งมอบพื้นที่มากกว่าร้อยละ 50 หลังจากเจรจากับเอกชน เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เสร็จตามนโยบายรัฐบาล และการรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ได้ จึงได้กำหนดสัดส่วนการส่งมอบพื้นที่ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งที่ดินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้เอกชนขนส่งมอบพื้นที่กลับหลังก่อสร้างเสร็จ สำหรับข้ออภิปรายที่ว่า มีการลดค่าปรับ เอื้อสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนแนว ทำ Spur line / สิทธิ First Right นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก เป็นการพิจารณาค่าปรับให้สอดคล้องตามสัดส่วนงานที่เอกชนรับไปดำเนินงาน ซึ่งอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเห็นชอบแล้ว สำหรับการย้ายสถานีหรือ Spur line / สิทธิ First Right ได้กำหนดหลักการไว้ในเอกสารเงื่อนไขการร่างข้อเสนอ (RFP) และมติ ครม.ที่อนุมัติ ไม่มีข้อใดขัดกับหลักการ เอกชนเปลี่ยนตำแหน่งสถานีได้ เพื่อประโยชน์และตามความเห็นชอบของ รฟท. เท่านั้น “ขณะนี้โครงการ EEC เดินหน้าไปได้ 3 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา และโครงการที่ท่าเรือแหลมฉบัง สิ่งที่ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการต่อไป คือให้สภาพัฒน์ฯ ศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และที่สำคัญคือเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้ง 5 เขตเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรี ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยทำให้มีการพัฒนาความเจริญทั้งประเทศ เนื่องจากเราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ผมเคยถามท่านว่า ใช้เวลาก่อสร้างหลายปี เราจะได้ใช้หรือ ท่านตอบกลับมาว่า คุณทำไปเถิด ผมต้องการทำสิ่งเหล่านี้ให้ประเทศไทย พวกเราต้องทำให้กับคนไทยทุกคน ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมีชีวิตที่ดีมากขึ้น”นายศักดิ์สยาม กล่าว.