พาณิชย์ยันมะกันตัดจีเอสพีสินค้าไทยมีผล 25 เม.ย.นี้ กระทบส่งออกเพียงร้อยละ 0.01 ของยอดส่งออกรวม โชว์ 4 มาตรการรับมือ ชี้ช่องผู้ประกอบการต้องตีตลาดใหม่ พร้อมใช้ออนไลน์เป็นทางลัดขยายสู่ตลาดต่างประเทศ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในพิธีเปิดโครงการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?”ว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค.61 สหรัฐฯประกาศตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (จีเอสพี) สินค้าส่งออกจากประเทศไทย 573 รายการ จากสินค้าที่ได้รับสิทธิ์จีเอสพีประมาณ 3,500 รายการ โดยการตัดจีเอสพีจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.63 สำหรับสินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิจีเอสพีอาทิ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น การตัดจีเอสพีครั้งนี้ คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐจะลดลงประมาณ 28-32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการส่งออกรวม นอกจากนี้คาดการณ์ว่าการที่ไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีดังกล่าว ทำให้ต้นทุนส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2562 มีมูลค่า 482,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในจำนวนนี้เป็นการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ 48,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกไทย ทั้งนี้ขอให้ผู้ส่งออกมองวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการส่งออกไปตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทดแทนตลาดเดิม อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดลาตินอเมริกา โดยคำแนะนำของทูตพาณิชย์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเสริมสภาพคล่องการค้าการลงทุนได้จากธนาคารของรัฐเช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เป็นต้น นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีการหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานภายในกระทรวงพาณิชย์ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ และร่วมกับหน่วยงานภายนอกคือ ธสน. รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือหาแนวช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทยให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ได้วางมาตรการรับมือ 4 รูปแบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว 1.เร่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทย รวมถึงสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพี ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีตลาดเป้าหมายในปีนี้ ได้แก่ ตลาดจีน,อินเดีย,กลุ่มประเทศ CLMV,กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง,กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งยังถือได้ว่ายังคงมีศักยภาพที่พร้อมต้อนรับสินค้าไทยในตลาดทางเลือกใหม่ๆ 2.ผลักดันผู้ประกอบการไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์เป็นช่องทางลัด ในการขยาดตลาดสู่ต่างประเทศ ผ่าน Thaitrade.com รวมถึงเร่งเปิด Top Thai Flagship Store ร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สชั้นนำของต่างประเทศ (จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันความนิยมของสินค้าไทยในตลาดซื้อขายออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนสินค้าคุณภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สัญชาติไทยให้สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วขึ้น 3.ให้ความรู้กับผู้ประกอบการผ่านการเสวนา/อบรม ด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงแนะนำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและต้องการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับทราบถึงมาตรการภาครัฐ รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อต่างๆ จากธนาคารภาครัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นต้น 4.พัฒนาและเพิ่มมูลค้าสินค้า ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการตลาดอย่างต่อเนื่อง เน้นการตอบสนองต่อความต้องการของพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศ ตอบสนองต่อกระแสตลาดโลก อาทิ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะ(Niche Market) นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)กล่าวว่า ในฐานะที่สถาบันฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนช่วยให้ความรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ล่าสุดNEA จึงได้จัดโครงการเสวนาในหัวข้อเรื่อง ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร? เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐได้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ หรือธุรกิจที่ได้รับและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ได้มีโอกาสรับฟังถึงปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขและรับมือร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การเสวนาในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้ รวมถึงอัพเดตสถานการณ์ปัญหาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแล้วนั้นยังมีการร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเข้าข่ายว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเตรียมตัวรับมือให้พร้อมก่อน มั่นใจว่า จะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวของผู้ประกอบการให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนล่วงหน้าในการจัดการสถานการณ์การค้าโลกได้ทันท่วงที ประกอบกับสามารถพลิกทุกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดประเทศใหม่ๆได้อีกด้วย ทั้งนี้ NEA มีความต้องการให้ผู้ประกอบการไทยติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ และสถานการณ์การค้าโลกเป็นระยะๆ เพื่อให้ทันกับบริบทต่างๆ พร้อมนำมาปรับใช้ในทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยังต้องศึกษากิจกรรมและโครงการส่งเสริมการขายจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน ซึ่งจะมีเทคนิคและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องของการวางกลยุทธ์ แผนการตลาด แผนการจัดการความเสี่ยง ฯลฯ ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาของ NEA มีโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการอย่างหลากหลาย เช่น โครงการพัฒนานักส่งออกอัจฉริยะ(Young Exporter from Local to Global)โครงการสัมมนาครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ และล่าสุดโครงการเสวนา สถานการณ์ตลาด 3 ภูมิภาคที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกไปยังตลาดใหม่อย่างจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น