สถานการณ์ไฟป่ายังน่าห่วง หลังดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อนของแม่ฮ่องสอน สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาด 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินค่ามาตรฐานถึง 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยค่าฝุ่นฯ ดังกล่าว ได้สูงต่อเนื่องมาแล้ว 18 วัน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน สรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 1.จุดความร้อนในระบบ MODIS จำนวน 254 จุด (สูงสุดที่อำเภอปาย จำนวน 69 จุด) 2.จุดความร้อนในระบบ Viirs จำนวน 2,969 จุด (สูงสุดที่อำเภอปาย 844 จุด) 3.คุณภาพอากาศประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ค่า PM2.5 เท่ากับ 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ) จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายโดย สทอภ. (GISTDA) จากดาวเทียมระบบ VIIRS, Modis และ ข้อมูลลม วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ภาพรวมระดับ 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่ามีจุดความร้อนทั้ง 9 จังหวัดรวม 475 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 80 จุด โดยพบจุดความร้อนพบมากในพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนฯ และพื้นที่อื่น ๆ โดยพบมากที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน 147 จุด จังหวัดตาก 104 จุด และเชียงใหม่ 99 จุดตามลำดับ จากภาพดาวเทียม สามารถสังเกตเห็นกลุ่มหมอกควันขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศเมียนม่าร์ โดยภาคเหนือได้รับอิทธิพลลมมาจากทิศตะวันออกและทิศใต้ และภาคกลางได้รับได้รับอิทธิพลลมจากลมจากทิศตะวันออก และลมจากทางทิศใต้ จากรายงานดังกล่าวจะเห็นว่า ได้เกิดไฟป่าเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พุ่งสูงถึง 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ได้พุ่งสูงในระดับคำเตือนสีแดง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง รวมไปถึงกระแสลมใต้และตะวันออก ส่งผลให้ควันไฟป่าจากจังหวัดข้างเคียงพัดควันไฟป่าเข้ามาในแม่ฮ่องสอนและผ่านไปยังประเทศเมียนมา ดังนั้นควันไฟที่ปกคลุมตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ไม่ได้เป็นควันไฟป่าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด