กรมการค้าต่างประเทศเผย ครม.อนุมัติกำหนดด่านนำเข้าและด่านนำผ่านน้ำมันปาล์ม ป้องกันการลักลอบ และลดผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศ มีผลบังคับใช้ใน 7 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 กุ.พ.63 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดด่านนำเข้าและด่านนำผ่านน้ำมันปาล์มและน้ำมันปาล์มเนื้อในเมล็ดปาล์มตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะลักของน้ำมันปาล์มฯ เข้ามาในประเทศจากการลักลอบนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์มฯโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ราคาผลผลิตจากปาล์มน้ำมันฯในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้มีการลักลอบมากขึ้น ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะมีผลภายใน 7 วันหลังจากกฎหมายประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้น้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มสามารถนำเข้าได้ 3 ด่านคือ ด่านศุลกากรมาบตาพุด สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ หรือสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และนำผ่านขาเข้าได้ 1 ด่านคือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และนำผ่านขาออกได้ 3 ด่านคือ ด่านศุลกากรจันทบุรี ด่านศุลกากรหนองคาย และด่านศุลกากรแม่สอด โดยผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้าและนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มตามพิกัดอัตราศุลกากร1511.10.00,1511.90.20,1511.90.31,1511.90.32,1511.90.36,1511.90.37,1511.90.39,1511.90.41,1511.90.42,1511.90.49 และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มตามพิกัดอัตราศุลกากร 1513.21.10,1513.21.90,1513.29.91, 1513.29.12,1513.29.13,1513.29.14,1513.29.91,1513.29.92,1513.29.94,1513.29.95,1513.29.96,1513.29.97 จะต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นทุกกรณี สำหรับมาตรการดังกล่าวทำให้การนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์มฯลดน้อยลงตามนโยบายเร่งด่วนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ทั้งนี้ปี 2562 ไทยมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มฯ ปริมาณ 19,420 ตัน โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 15,121 ตัน คิดเป็นร้อยละ 77.86 รองลงมาเป็นการนำเข้าจากมาเลเซียปริมาณ 4,299 ตัน คิดเป็นร้อยละ 22.14 ตัน สำหรับการนำผ่านน้ำมันปาล์มฯไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีปริมาณ 16,148 ตัน ซึ่งมีต้นทางมาจากมาเลเซียเพื่อนำผ่านไปยังเมียนมามากที่สุดปริมาณ 15,111 ตัน รองลงมาลงเป็น สปป.ลาวปริมาณ 913 ตัน และกัมพูชาปริมาณ 124 ตันตามลำดับ