ห่วงไฟป่า! สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 จับมือหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดเผาป่า ปลอดควันพิษจากไฟป่า ที่ป่าภูฝอยลม อ.หนองแสง จ.อุดรธานีที่มีพื้นที่ป่าเกือบ 40,000 ไร่ วันนี้ (24 ก.พ.63) ณ โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี นายทวี ชิณรงค์ นายอำเภอหนองแสง เป็นประธานเปิดโครงการวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ประชาชน กลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ จำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม นายวันชัย จริยาเศรษฐโชค ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 กำหนดให้ทุกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า" และให้ทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรณรงค์หยุดการเผาป่าเพื่อลดหมอกควันพิษ ในอากาศ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) โดยส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่าและหน่วยงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ จึงได้จัดทำโครงการฯ ขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนในท้องที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงระมัดระวังและหลีกเลี่ยง การกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดไฟป่า ตระหนักถึงอันตรายของไฟป่า เกิดจิตสำนึกในการป้องกันไฟป่า และสนับสนุนการดับไฟป่า โดยกิจกรรมที่ดำเนินงาน ประกอบด้วย กิจกรรมแข่งขันการประกวดวาดภาพ, กิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ, กิจกรรมแข่งขันการตอบปัญหาบนเวที, กิจกรรมการประกวดร้องเพลงของเด็กนักเรียนและเยาวชน, กิจกรรมแข่งขันการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ดับไฟปา, การสาธิตการใช้รถดับไฟป่าของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 14 อุดรธานี และการจัดนิทรรศการด้านไฟป่า สำหรับในปีนี้ ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 ได้ดำเนินการที่โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพื้นที่ป่าเกือบ 40,000 ไร่ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีหน่วยงานใกล้เคียงได้แก่ สถานีควบคุมไฟป่าภูฝอยลม และสวนพฤกษศาสตร์ภูฝอยลม 60 พรรษา มหาราชินี ที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณวนอุทยานน้ำตกคอยนาง ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่มีอาชีพทำไร่อ้อย ทำให้มีการจุดเผาเพื่อเตรียมพื้นที่และเผาไร่เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและก่อหมอกควันและจะลามมายังภูฝอยลมที่มีพื้นป่าเป็นหมื่นๆ ไร่ จึงสมควรที่จะต้องมีแนวทางหรือมาตรการในการดูแลพื้นที่เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป