เมื่อ​​วันที่ 24 ก.พ. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศและกองทัพบก โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ โดยทั้ง 11 หน่วยฯ ยังคงติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน หากเงื่อนไขสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย รวมถึงแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นอยู่บางพื้นที่ในขณะนี้ จึงขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังไฟป่าและร่วมกันรณรงค์งดการเผาป่าด้วย ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้วันนี้สภาพอากาศยังคงไม่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง โดยเมื่อวานนี้ (23 ก.พ. 2563) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่การเกษตรของ อำเภอวิภาวดี อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ​ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 22 จังหวัด (รวม 128 อำเภอ 676 ตำบล 3 เทศบาล 5,849 หมู่บ้าน) บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ และภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 145 แห่ง ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำเหล่านี้ควรที่จะประสานงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ เพื่อเป็นการวางแผนใช้น้ำร่วมกัน สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนกว่า 301 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกบางส่วน และภาคใต้บางส่วน โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สำหรับข้อมูลของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เรื่องปริมาณน้ำฝนรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนปริมาณเล็กน้อย ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะวางแผนช่วยเหลือต่อไป ​ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆอยู่ในระดับ 60% ขึ้นไป แต่ค่าดัชนียกตัวของอากาศ ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง (มากกว่า -2.0) ประกอบกับมีค่าความเร็วลมเกิน 36 กม./ชม. ในบางพื้นที่ ดังนั้น ทั้ง 11 หน่วยปฏิบัติการฯ ทั่วประเทศ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน ร่วมกับวิเคราะห์ผลการรายงานสภาพอากาศจากประชาชนและอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่เพื่อประกอบการตัดสินใจ หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ทั้งนี้ พี่น้องประชาชน เกษตรกร สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร