พาณิชย์เผยส่งออก ม.ค.63 บวกร้อยละ 3.35 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ระบุประเทศเดียวในภูมิภาคที่ส่งออกยังเป็นบวกฟื้นตัวจากสงครามการค้า ชี้สินค้าเกษตรอาหาร-สินค้าซัพพลายเชนจากไทยขายได้ดี เชื่อทั้งปีมีโอกาสโตร้อยละ 0-2 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนม.ค.63 มีมูลค่ารวม 19,625.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่การส่งออกยังคงเป็นบวก สะท้อนถึงความหลากหลายของสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งช่วยประคองการส่งออกยังไปต่อได้ ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดกลับมาขยายตัว โดยขยายตัวร้อยละ 3.1 เนื่องจากส่งออกไปสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 9.9 และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ขยายตัวร้อยละ 0.6 การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวร้อยละ 0.6 เช่น จีน ขยายตัวร้อยละ 5.2 และตลาดอาเซียน 5 ประเทศกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 สำหรับเดือนม.ค.63 การส่งออกยังไม่เห็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากนัก และการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวจากสงครามการค้าและผลกระทบอื่นๆ หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบเร็วจะยิ่งดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าที่เป็นซัพพลายเชนจากไทยยังขายได้ดี เพราะคุณภาพดี มีความต้องการสูงมาก ครึ่งปีหลังการส่งออกจะดีขึ้น ทั้งปีการส่งออกยืนยันว่าจะเป็นบวกแน่นอน คาดว่าส่งออกปีนี้จะโตได้ในระดับร้อยละ 0-2 โดยส่งออกโตร้อยละ 2 ยังอยู่ในโอกาสที่จะทำได้ ทั้งนี้การส่งออกของไทยยังติดปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่ยังคงมีการระงับการให้บริการ ดังนั้นต้องดูแลการขนส่งทางเครื่องบินเพิ่มเติมและรัฐบาลเจรจาผ่อนผันชั่วคราว ส่วนรถยนต์ยังคงกังวลการส่งออกที่ลดลงผลกระทบจากสงครามการค้า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่รถไฟฟ้าตลาดต้องการมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตส่งออกจึงต้องปรับตัว เชื่อว่าปีนี้การส่งออกไทยน่าจะอยู่ในขั้นพื้นตัวดีขึ้น “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ยังมีแผนขยายส่งออกในอีก 18 ประเทศตามที่วางแผนไว้ เช่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ดังนั้นช่วงนี้ผู้ส่งออกไทยควรรีบปรับตัวรองรับความต้องการสินค้าไทยที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สินค้าไทยจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโลก” ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบยังคงขยายตัว มูลค่านำเข้ารวม 21,181.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.86 อย่างไรก็ตามผลจากสงครามการค้าและช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการมีการวางแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมาไทยมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอื้อการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศไทย ส่วนดุลการค้าเดือนม.ค.63 ขาดดุล 1,555.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ “ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสนอให้กระตุ้นซื้อของไทยใช้ของไทย ท่องเที่ยวไทย อยู่ในชั้นเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากร่วมกับหลายหน่วยงานเป็นงานใหญ่แสดงศักยภาพของสินค้าไทย การผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างแก่ภาคเอกชนด้วย รวมถึงช่องทางการตลาดออนไลน์ และมาตรการรองรับภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบรายได้เกษตรกรและกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เป็นต้น” สำหรับการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รมว.พาณิชย์มีแผนนำคณะกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเดินทางไปเปิดตลาดตามกลยุทธ์รักษาตลาดเดิมเปิดตลาดใหม่ฟื้นฟูตลาดเก่าอย่างน้อย 18 ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย อังกฤษ เยอรมันนี และออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆนเอเชียเช่น เวียดนาม กัมพูชา บังกลาเทศ อินเดีย เป็นต้น เพื่อผลักดันการส่งออกและสร้างโอกาสทางการค้ากับไทย ส่วนนโยบายการค้าระยะยาวกระทรวงพาณิชย์จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วได้แก่ ไทย-ตุรกี คาดว่าเสร็จปี 2563 ตามด้วยไทย-ปากีสถาน และไทย-ศรีลังกา และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น