เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352 – 2367) นับเป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรไทยเริ่มเข้าสู่ความสงบและมีความปึกแผ่นมากกว่าสมัยที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าพระองค์จะยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการบริหารราชการแผ่นดินและทำนุบำรุงพระนครสืบต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมชนกนาถ เช่นที่เคยเป็นมา แต่ในขณะเดียวกันยังทรงให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูศิลปกรรมในแขนงต่างๆ อย่างดียิ่ง ที่สำคัญคือ การรังสรรค์งานสถาปัตยกรรมในพระนครให้มีความสง่างามยิ่งกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา มีการขยายอาณาเขตของพระบรมมหาราชวังทางทิศตะวันตกกับทิศใต้ใหม่ นอกจากนั้นยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างและตกแต่งอาคารต่างๆ ให้มีรูปแบบสมัยใหม่โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งทอง 3 หลัง สร้างตึกแบบยุโรปและเก๋งจีนอีกเป็นจำนวนมากในบริเวณสวนขวาภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่ทรงพระสำราญและต้อนรับแขกเมือง โดยมีลักษณะของการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทยกับต่างชาติเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพราะภายในสวนขวาจะประกอบด้วย อ่างน้ำ ภูเขา แพเก๋ง ตุ๊กตาเท่าคนจริง พร้อมด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ในรัชสมัยของพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนนเพิ่มขึ้น ถนนที่สำคัญ ได้แก่ ถนนหน้าพระธาตุ และถนนพระจันทร์ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นถนนที่ตัดขึ้นใหม่นี้ล้วนเป็นไปเพื่อเชื่อมการสัญจรระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นสำคัญ โดยมีเทคนิคการก่อสร้างแบบเรียบง่าย (ตำนานงานโยธา 2325–2556) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในด้านศิลปกรรม ทั้งด้านประติมากรรม ทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว ยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกด้วยพระองค์เอง พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และพระองค์ยังทรงเป็นช่างปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญ ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี ฯลฯ ด้านกวีนิพนธ์ ในรัชสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยนั้น ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า “ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด” กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์แล้วยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สุนทรภู่, พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ ฯลฯ ด้านดนตรี ทรงพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า” แต่ต่อมามักจะเรียกว่า “เพลงทรงพระสุบิน” เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้ (วิกิพีเดีย) ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมหลายด้าน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ และดนตรี ที่ปรากฏขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุคทอง” ทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความสงบสุขของบ้านเมืองตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งการครองราชย์แล้ว ยังบ่งบอกถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ที่นับว่ามีแต่เพิ่มพูนขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่วงสู่รัชกาลต่อมา วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ยังได้กำหนดให้เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาประดิษฐานไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม