คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ข่าวสะเทือนขวัญที่โคราชเมื่อวันมาฆบูชา (8 ก.พ. 63) นั้นใช้คำว่า “จ่าคลั่ง” กราดยิงผู้คน ด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย ล่าสุด มีพิธีทำบุญใหญ่ (นิมนต์พระสงฆ์รับบิณฑบาตเป็นกรณีพิเศษ) และมีกิจกรรม “คลีนนิ่งเดย์” ขึ้นในเมืองโคราช เพื่อ “ล้างเมือง” ครั้งใหญ่ อันเป็นประวัติการณ์ มานึกถึงความสำคัญของ “ศาสนา” ในสถานการณ์อย่างนั้นเกิดคำถามในอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีศาสนาในหมู่มนุษย์ เราจะอยู่กันอย่างไร ขณะที่มีข่าวไปทั่วโลกว่า มีจำนวนคนที่ “ไม่นับถือศาสนา” เพิ่มขึ้น? คนที่ไม่นับถือศาสนานั้น ลืมนึกไปหรือเปล่าว่าการมีศาสนาในโลกมนุษย์นี้ ไม่ได้หมายเฉพาะตัวเองเท่านั้นที่จะต้องมีศาสนา คนอื่นรอบๆตัวเองก็จะต้องมีศาสนาหรือนับถือศาสนาด้วย ตัวเองจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุขตามสมควร อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ถือศาสนา-ไม่ถือศาสนา ไม่ได้หมายเฉพาะการนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการมี “ศีลธรรม” ที่ทางศาสนากำหนดขึ้นด้วย เช่น การไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน การไม่ละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ของกันและกันเป็นต้น จะเห็นได้ว่า ลำพังมนุษย์มี “กฎหมาย” และ “ธรรมเนียมประเพณี” หรือแม้แต่ “วัฒนธรรม”เท่านั้น ยังไม่พอ คำว่า “กลียุค” หรือ “ยุคมิคสัญญี” หมายถึงยุคที่ไม่มีศาสนาคุ้มครองโลกแล้ว มนุษย์เห็นกัน ก็ต้องหนีกันเองเพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็กลัวจะถูกฆ่าด้วย จึงต้องฆ่ากันเอง จนกระทั่งมนุษย์มีสำนึกของการมีศาสนาอีกครั้งหนึ่ง จึงอยู่ร่วมกันได้ จะเห็นได้ว่า มนุษย์หรือโลกนี้จำเป็นต้องมีศาสนา ไม่มีใครจะปฏิเสธการมีศาสนาหรือการนับถือศาสนาได้ ไม่เชื่อว่าคนที่แสดงตน “ไม่มีศาสนา” จะมีอยู่จริงในโลกนี้ และไม่เชื่อว่า จะมีคนที่อยู่ในโลกที่ไร้ศาสนาได้ เพราะมันหมายถึงว่า เขาจะอยู่ท่ามกลางคนไร้ศาสนาซึ่งไม่มีมนุษยธรรมใดๆ ประจำใจอยากฆ่า ก็ฆ่า อยากฉกชิง ก็ฉกชิงได้ตลอดเวลา เชื่อว่า เมื่อไม่มีศาสนา ก็จะไม่มีกฎหมายที่เป็นธรรมไม่มีธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงว่า ศาสนาคือแหล่งก่อเกิดกฎหมาย ธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ของมนุษย์ จึงย้อนไปนึกถึงจุดก่อเกิดศาสนาครั้งแรก กล่าวกันว่า ศาสนาเกิดจาก “ความกลัว” เห็นจะจริง มนุษย์พวกหนึ่งเห็นฟ้าแลบฟ้าร้องและฟ้าผ่า ก็กลัวภัยจากฟ้าที่มีอาการแปลกๆ อย่างนั้น เมื่อไม่รู้เหตุผลที่เกิดปรากฏการณ์อย่างนั้นก็นึกเห็นแต่อำนาจลึกลับดลบันดาลไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจึงมีการนบไหว้ ทำพิธีต่างๆ เอาใจสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นอำนาจลึกลับนั้นนั่นแหละ “ศาสนา” ได้เริ่มก่อเกิดขึ้น แม้แต่พุทธศาสนา ก็เกิดจาก “ความกลัว” ของโคตมะ คือกลัวการเกิด(ชาติ) ซึ่งจะนำไปสู่การแก่ (ชรา) และการตาย (มรณะ) เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจของโคตมะ (พยายามไม่ใช้คำว่า “สิทธัตถกุมาร” เพราะในพระไตรปิฎก ไม่มีชื่อ “สิทธัตถะ” แม้แต่แห่งเดียว และในพระไตรปิฎกไม่มีกล่าวว่ พระราชกุมาร (โคตมะ) ไปเห็นคนเกิด คนแก่ และคนตายข้างทางจึงสลดใจและคิดออกบวช จึงใช้คำว่า ความกลัวที่เกิดขึ้นในใจของโคตมะคือ พระราชกุมารคิดถึงภัยแห่งชาติชรามรณะขึ้นมาเอง) ข้อความในวงเล็บที่ค่อนข้างยาวข้างบนนั้น ต้องการจะให้คุณมหาชลิต ที่อ้างว่าสอบได้ ป.ธ.9 ใน 4 ปี และเปลี่ยนศาสนาไปเป็นมุสลิม (เปลี่ยนชื่อเป็น “อับดุลเลาะห์”) เพื่อจะได้สำรวจความรู้ใน “พุทธประวัติ”ของท่านเสียใหม่ ให้สมกับที่เป็นมหาเปรียญ 9 ประโยค คิดว่าคนมีภูมิถึงประโยค 9 คงอ่านพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาได้ ไม่อยากให้ท่านเอาความรู้ที่ได้อ่านในชั้นนักธรรมตรีหรือพุทธประวัติในหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” ซึ่งเป็นหนังสือแต่งตามอรรถกถา ไปพูดให้ชาวมุสลิมจำไปผิดๆ อย่างนั้นต่อไป (ท่านที่สนใจอยากจะเข้าไปดูทางยูทูบ ยังดูได้ครับ ที่ “The former open Islam,known as The Tripitika”) ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่า ทุกศาสนาในโลกมีความสำคัญและมีความหมายแก่ทุกชีวิตในศาสนานั้นๆ คนที่เกิดในครอบครัวถือศาสนามี “พระเจ้า” หรือมี “ผู้สร้าง” ก็เกิดมาพร้อมกับการรับรู้ว่าคนถือศาสนานั้น และเขาก็ถือศาสนานั้นด้วยศีลธรรมตามแบบของศาสนานั้น อย่างน้อยเขาก็เห็นว่าการฆ่าชีวิตอื่นเป็นบาป นั่นหมายความว่า เขามีศาสนาหรือถือศาสนาด้วยการไม่ฆ่าฯลฯ ถ้าเขาไม่มีศาสนาใดๆ เลยในจิตใจ เขาก็คงเป็นที่หวาดระแวง น่ากลัวไม่น้อยเพราะเขาไม่เชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ไม่เชื่อเรื่องบาป-บุญ ทางพุทธศาสนาจึงมีคำสอนว่า แม้ในยุคที่นักบวชมีแค่เศษผ้าเหลืองห้อยหู ก็ยังถือว่า ยังมีพระศาสนาอยู่ นั่นหมายความว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลก-คู่สังคมมนุษย์ อันที่จริง ศาสนาอย่างพุทธศาสนา ท่านใช้คำว่า “ธรรม” เป็นหลัก เมื่อรับเอาธรรมเป็นศาสนาของตน ใช้คำว่า “สรณะ” คือคำว่าศาสนาหมายถึง “ที่พึ่ง” ของชีวิต เพราะพุทธศาสนาเป็นมากกว่าความเชื่อมโยงระหว่างพระเจ้า (เทวดา) กับมนุษย์ด้วยความเชื่อ (faith) แต่เอาธรรมหรือศาสนาเป็นที่พึ่ง หรือเป็นเกาะ (ทวีป) ของชีวิต เมื่อถือศีล5 ก็เชื่อว่า การละเมิดศีลเป็นบาปอย่างไร การฆ่าคนอื่น แม้จะมีเหตุให้อ้างได้มากมาย เช่น อาจเกิดจากความคับแค้นใจหรือเกิดจากความยากจนนานา แต่สำหรับคนมีศาสนา (ถือศีลของศาสนา) ก็จะไม่ทำบาปด้วยการละเมิดศีลเป็นอันขาดเพราะเชื่อตามที่ศาสนาสอนว่า ผลแห่งบาปจะติดตามให้ผลจนได้ กรณีคนที่ฆ่าตัวตาย ก็จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น คนมีศาสนาจะมีความอดทนได้ดีกว่า ไม่คิดสั้นง่ายๆ เพราะเชื่อศาสนา ส่วนคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวเองได้ง่ายๆ เพราะความเชื่อทางศาสนาของเขาไม่แข็งแรงพอจะเห็นได้ว่า ผลดีจากการมีศาสนาน่าจะมีมากกว่าการไม่มีศาสนา สมมติว่า ในยุคมิคสัญญีเหลือคนเพียง 5 คน มาพบหน้ากันถ้าคนทั้งห้านั้นต่างรู้ว่าคนทั้งห้า (และตน) ล้วนมีศาสนาของตนๆ แม้จะต่างศาสนากัน ก็คงดีใจว่า ตนปลอดภัยแล้ว นั่นแสดงว่า ในส่วนของจิตใจ มนุษย์ทุกคนมีศาสนาครองใจอยู่ แม้จะมีคนอ้างว่าตนไม่ถือศาสนาใดๆ เพิ่มจำนวนขึ้นก็ตามแต่โลกนี้ก็จะยังมีศาสนาอยู่นั่นเอง กรณีจ่าสิบเอก-ทหารผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมานั้น มองในแง่ศาสนา เชื่อว่าทหารท่านนั้นเป็นคนถือศาสนาคนหนึ่งและน่าจะเป็นชาวพุทธ (นับถือพุทธศาสนา) เหมือนทหารคนอื่นๆ แต่ก็ถือศาสนาที่ไม่ถึงกับเอาศาสนาเป็น “สรณะ” ต่างคำกล่าวที่ว่า “พุทธัง-ธัมมัง-สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” คือมีชื่อว่าเป็นชาวพุทธแต่ในทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนเท่านั้น แต่คิดว่า ทหารคนนั้นก็เชื่อในบาปบุญคุณโทษตามคำสอนของศาสนาพอสมควร คงจะไม่คิดก่อการอันเป็นบาปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อศาสนาไม่เป็นสรณะให้พึ่งได้ในยามคับขันอย่างนั้น ศาสนาจึงช่วยเขาไว้ไม่ได้ ได้ก่อการบาปแบบตกกะไดพลอยโจน ไม่มีสติยับยั้งได้ นั้นคือเขาไม่เคยปฏิบัติธรรมและไม่เคยเห็นความสำคัญของการมีสติ (ตามแนวคำสอนของพุทธศาสนา) เมื่อถึงยามคับขันอย่างนั้น จึงขาด “สรณะ” อันเป็นที่พึ่งทางศาสนาอย่างน่าเสียดาย นี่คือความจำเป็นที่มนุษย์ต้องมีศาสนา เพื่อใช้ในยามจำเป็นอย่างกรณีทหารคนนั้น การมีศาสนาเป็นการมีสติมีเมตตากรุณาต่อชีวิตอื่น การไม่มีศาสนา (ของคนรุ่นใหม่) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าสังเกตเป็นการมองข้ามคุณค่าของศาสนา ซึ่งเป็นคุณค่าทางด้านจิตใจ ลืมไปว่า การมีศาสนานั้น นอกจากจะสร้างความสุขให้แก่ชีวิตตัวเองแล้ว ยังจะทำให้รอบกายตัวเองปลอดภัยด้วย มานึกว่า ถ้าทหารคนนั้นเป็นคนศรัทธาในศาสนาอย่างแนบแน่น วันมาฆบูชา (ของพุทธศาสนา) ก็จะเป็นที่พึ่งทางใจแก่เขาทั้งวัน เขาจะนึกถึงแต่บุญกุศล รอเวลาแต่จะถึงตอนค่ำซึ่งจะไปเดินเวียนเทียนและฟังเทศน์เหมือนปีก่อนๆ แต่เพราะเขาไม่มีศาสนาเป็นสรณะเขาก็เลยอยู่กับความเคียดแค้น อยู่กับอารมณ์ที่จะก่อการบาปประกอบกับมองเห็นช่องทางที่จะทำกรรมได้อย่างง่ายดาย จิตใจของเขาในวันนั้น เป็นจิตใจที่ห่างเหินศาสนาและลืมนึกถึงชีวิตคนอื่นซึ่งจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากมาย ในที่สุดเขาก็ลืมพ่อแม่ ญาติพี่น้องของตัวเอง และลืมนึกถึงตัวเอง เช่นเดียวกับคนที่คิดสั้นฆ่าตัวตายทั้งหลายนั่นเอง จึงมานึกว่า ศาสนานั้นมี 2 สถานะ คือ 1. สถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับกราบไหว้บูชา 2.สถานะข้อปฏิบัติของชีวิต (มนุษย์) ทั้งสองสถานะของศาสนานั้นย่อมเป็นสรณะของชีวิตได้เสมอคือเป็นที่พึ่งของชีวิต แต่น่าสังเกตว่า ศาสนามีก็แต่สำหรับมนุษย์เท่านั้น สัตว์ดิรัจฉานทั่วไปไม่มีศาสนา ในบางศาสนา ศาสนาคุ้มครองได้ถึงสัตว์บางประเภท ไม่คุ้มครองสัตว์บางประเภท บางศาสนาคุ้มครองได้ถึงพืชและสิ่งแวดล้อมกว้างไกล แต่ที่แน่ๆ คือ ศาสนาคุ้มครองมนุษย์ได้ศาสนาช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยตามสมควร ลักษณะการก่อเกิดของศาสนา คล้ายกับกฎหมายหรือกฎกติกาในหมู่มนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เอง ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานไม่มี เมื่อมนุษย์ไม่มีศาสนา จึงไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานย่อมเป็นภัยแม้ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง เท่ากับไม่มีกฎหมายหรือกฎกติกาสำหรับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ จึงน่าเป็นห่วงจำนวนคนที่แสดงตนว่า “ไม่มีศาสนา” มากขึ้นทุกวัน แสดงว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะไม่มีศาสนามากขึ้น แสดงว่า มนุษย์จะเป็นภัยมากขึ้น เมื่อมนุษย์เป็นภัย จึงน่ากลัวอย่างยิ่ง อย่างเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เมืองโคราชนั้นแล