ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชีวิตผมที่เป็นผู้เป็นคนเพราะย่าจันทร์นี่เอง ด้วยความที่เป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดู ย่าจันทร์จึงรับบทเป็นทั้งแม่และพ่อของผม สำหรับเด็กห้าขวบแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว้าเหว่อะไร เพราะอยู่ในวัยสนุกสนาน ผมเป็นเด็กไม่ดื้อไม่ซน ย่าพาไปไหนก็ไปด้วย แต่ย่าก็จะมีสถานที่ที่ชอบไปอยู่เพียง 2 แห่ง คือทุ่งนากับศาลาวัด โดยที่ทุ่งนาย่าจะพาผมไปส่งข้าวให้ปู่และลุงในตอนเช้า หลังอาหารเช้าย่าจะช่วยทำนา ถ้าเป็นฤดูดำนาก็จะช่วยดำนา ถ้าเป็นหน้าเกี่ยวข้าวก็ช่วยเกี่ยวข้าวอย่างขะมักเขม้น หรือนอกฤดูทำนาก็จะช่วยปลูกผักปลูกปอ บนผืนนาที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปแล้วนั้นแหละ เรียกว่าเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน ช่วยบำรุงดินให้ดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มรายได้ได้พอสมควร ส่วนที่วัดดูเหมือนจะเป็น “สโมสร” สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วทั้งสาวและแก่ แต่ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุสักห้าสิบปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้ไม่ต้องไปนาไปไร่เพราะจะมีลูกๆ ที่โตพอที่จะช่วยทำนาทำไร่ได้แล้ว จึงมีเวลาที่จะมาชุมนุมพูดคุยกันก็ที่วัดนี่เอง โดยทุกๆ วันตอนก่อนเพล ผู้หญิงเหล่านั้นจะมารวมกันบนศาลาวัด เอาข้าวปลาอาหารคนละอย่างสองอย่างทั้งคาวและหวานมาถวายพระสงฆ์ ระหว่างที่เอาอาหารออกมาจัดใส่ถ้วยใส่ถาดก็พูดคุยทักทายกันอย่างออกรส เรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องลูกเต้านั่นแหละ บางคนก็คุยเรื่องละครวิทยุที่ทุกคนดูเหมือนจะติดละครเรื่องเดียวกัน จนเมื่อพระสงฆ์ขึ้นมาบนศาลาวัดทุกคนก็จะเงียบเสียงลงโดยอัตโนมัติ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็จะทักทายญาติโยมไปเรื่อยๆ เมื่อพระสงฆ์นั่งลงทั้งหมดแล้ว ทั่วบริเวณนั้นก็จะเงียบกริบ จนเมื่อมัคนายกที่เป็นชายสูงอายุ ผมขาวเต็มศรีษะ แต่ยังแข็งแรงสดใส กล่าวนำอาราธนาศีลอาราธนาธรรม ทุกคนก็จะส่งเสียงเจื้อยแจ้วอย่างคล่องแคล่ว ที่ผมรู้สึกว่าเป็นบทเพลงที่ไพเราะที่สุด ความจริงเด็กในวัยของผมอยู่ในวัยที่ซุกซนอยู่ไม่เป็นสุข เช่นเดียวกันกับเด็กๆ ทุกคนที่ติดตามคุณยายคุณย่าไปวัดในทุกวันนั้น(ส่วนมากจะเป็นวันหยุดและช่วงปิดเทอม) คือพอไปถึงวัดก็ไม่มีเด็กคนไหนขึ้นไปบนศาลา แต่จะรวมกลุ่มกันเล่นอยู่ที่ลานวัดบ้าน ใต้ต้นไม้รอบๆ ศาลาบ้าง รวมถึงใต้ถุนศาลาที่ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้หญิงเพราะจะเล่นขายข้าวขายแกงและการละเล่นเบาๆ ที่ต้องไม่ส่งเสียงดัง เพราะอาจจะไปรบกวนผู้ใหญ่ที่อยู่บนศาลา สำหรับตัวผมตอนแรกๆ ที่ตามย่าไปก็จะขึ้นไปบนศาลา เพราะยังไม่คุ้นกับเด็กๆ คนใด แต่อีกไม่กี่วันก็ลงมาที่ใต้ถุน มาคลุกคลีกับพวกเด็กผู้หญิงอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อเข้าโรงเรียนและคุ้นกับกลุ่มเด็กผู้ชายแล้ว พอมาเจอกันที่วัดก็กระโดดออกไปเล่นบนลานวัดกับเพื่อนๆ ผู้ชาย จนบางทีกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ขาดคนในการละเล่นบางอย่างก็ต้องออกมาเรียกไปเข้ากลุ่ม พวกเราจะเล่นกันอย่าง “เมามัน” จนกระทั่งได้ยินเสียงของคุณยายคุณย่าบางคนบนศาลาเรียกให้ขึ้นไปกินข้าว พวกเราก็จะไปล้างหน้าล้างมือล้างเท้า แล้วขึ้นไปกินข้าวที่พระฉันเสร็จแล้วนั้นจนอิ่มก็จะช่วยกันล้างจานชาม เอาไปผึ่งและเก็บให้เรียบร้อย โดยมีผู้ใหญ่คอยคุมอยู่เพราะกลัวว่าเด็กจะล้างไม่สะอาดและทำถ้วยชามแตก เพราะยังชอบที่จะเล่นกันไปตามประสา ผมเองเป็นเด็กเล็กก็จะล้างพวกช้อนหรือจานสังกะสีเพราะไม่มีวันแตก แม้จะไม่ค่อยชอบ แต่การที่ต้องระมัดระวังในการดูแลจานชามซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมก็ได้ทำให้เราซึมซับ “ความรับผิดชอบ” ไปโดยไม่รู้ตัว ช่วงที่กินข้าวอยู่บนศาลานี่เองที่ผมได้เรียนรู้ “ธรรมะ” และความเป็น “พุทธะ” ไปทีละเล็กละน้อย ศาลาวัดก็คือศาลาการเปรียญ ชื่อก็บอกแล้วเป็นสถานที่ของ “เปรียญ” หรือ “ผู้ศึกษาเล่าเรียน” ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก สมัยก่อนก็คงใช้สอนเป็นที่สอนพระหรือใช้เล่าเรียนหนังสือ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นก็มีลูกหลานชาวบ้านไปร่วมเรียนด้วย เพราะวัดก็คือโรงเรียนของเยาวชนคนไทยมาตั้งแต่โบราณ สถานที่นี้จึงเป็นที่ที่ “โอ่โถง” ที่สุดในวัด จากนั้นก็ใช้เป็นที่ชุมนุมหรือจัดงานบุญงานกุศลของชาวบ้าน รวมถึงใช้เป็น “สโมสร” หรือที่พบปะกันของผู้คนในชุมชนนั้นด้วย ศาลาวัดบ้านหนองม่วง หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วัดอัมพวันถาวร” เป็นศาลาขนาดย่อมขนาด 4 ห้อง มีเสา 15 ต้น กว้างยาวประมาณ 6 คูณ 12 เมตร หลังคาสังกะสี ยกพื้นสูงขนาดราวอกผู้ใหญ่ เสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ปูพื้นด้วยไม้กระดานเลื่อยมือ จึงไม่ค่อยสม่ำเสมอแน่นหนานัก เวลาเดินจึงมีเสียงเอี๊ยดอ๊าด และต้องระวังเท้าโดนร่องกระดานหนีบ โดยเฉพาะเท้าเล็กๆ ของเด็กๆ มีบันไดขึ้นด้านเดียวตรงหัวตัดด้านทิศตะวันออก ที่หัวกระไดมีตุ่มน้ำขนาดสักหนึ่งโอบผู้ใหญ่ตั้งอยู่ 2 ใบ ใบที่อยู่ต่ำกว่าใช้ล้างเท้า ใบที่อยู่สูงกว่าใช้ล้างหน้าและมือ พอขึ้นบันไดไปทางซ้ายมือจะเป็นพระหมู่บูชา มีพระสัมฤทธิ์ขนาดสัก 2 ศอกตั้งอยู่เป็นพระประธาน รูปทรงหน้าตาออกเป็นแนวพระที่เขาหล่อขายกันแถวเสาชิงช้า คงมีผู้ใจบุญจากกรุงเทพฯนำมาถวาย เพราะดูยังใหม่มาก ถัดไปทางซ้ายมือของพระประธานองค์นี้เป็นพื้นยกสูงสัก 1 ศอก ปูกระดานยาวไปตลอดตามแนวยาว ใช้เป็นอาสนะของพระสงฆ์ สภาพศาลาค่อนข้างเก่า น่าจะสร้างมาแล้วหลายปี ตัวศาลาเปิดโล่ง เฉพาะแนวด้านหลังอาสนะของพระเท่านั้นที่มีฝาผนังสูงขึ้นมาอีกสักศอกเศษๆ ส่วนด้านอื่นๆ ก็เป็นระแนงกั้นไว้พอไม่ให้มีคนไถลหล่นลงไป แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือตลอดแนวเพดานทั้งสี่ทิศและที่ตามหัวเสาต่างๆ จะประดับด้วยภาพวาดใส่กระจกขนาดสัก 1 คูณ 2 ฟุต จำนวนหลายสิบภาพ จำนวนหนึ่งเป็นของจิตรกรชาวบ้านชื่อดัง “เหม เวชกร” เรียงรายไปตั้งแต่ด้านบนของพระประธานจะเป็นพุทธประวัติยาวไปตลอดด้านหลังอาสนะพระสงฆ์ ด้านตรงกันข้ามตลอดแนวยาวเช่นกันเป็นรูปเวสสันดรชาดก ส่วนเพดานด้านหัวตัดทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกจะเป็นรูปพระมาลัยท่องสวรรค์ เป็นรูปเทวดานางฟ้าทั้งสองด้านนั้น แต่ที่ “ติดตา” เด็กๆ อย่างผมมากที่สุดก็คือ ตามแนวหัวเสาทั้ง 3 ต้น ตลอดแนวโล่งกลางศาลา จะมีภาพติดอยู่เสาละ 4 ภาพ เป็นรูป “นรก” จากไตรภูมิพระร่วง ที่เต็มไปด้วยภูตผีนานาและภาพความสยดสยองของการลงโทษในนรกภูมิชั้นต่างๆ ย่าจันทร์สอนเรื่องบาปบุญให้ผมจากภาพต่างๆ บนศาลานี้