วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (นพช.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่าการปรับขยายห้วงเวลาของแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ และผลการอบรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรปฏิบัติงาน”การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ และ การบริหารจัดการชายแดน” ประจำปี 2563 นอกจากนี้ได้พิจารณาร่างคู่มือตัวชี้วัดภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ (พ.ศ. 2561- 2565) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และพิจารณาร่างโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน โดยให้ สมช. ร่วมกับ สล.พมพ.กปช.จต. เสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาต่อไป
พลเอกประวิตร กล่าว่า เพื่อให้แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นแผนรองรับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกส่วนราชการ ให้ความสำคัญโดยให้กระทรวงมหาดไทย และจังหวัด เร่งดำเนินการจัดทำและทบทวนประกาศจังหวัด ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชั้นใน จังหวัดชายฝั่งทะเลเกาะแก่ง และจังหวัดชายแดน โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ภายในไตรมาสนี้ ซึ่งผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้ตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในคู่มือตัวชี้วัด จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่เป้าหมายที่จังหวัดประกาศเป็นลำดับแรก และให้ สมช. กอ.รมน. และ พมพ. กองทัพภาค ทัพเรือภาค ร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการจัดทำ และขับเคลื่อนโครงการพัฒนา เพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ที่ได้เสนอร่างโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่โป่งน้ำร้อน จะต้องนำความเห็นของที่ประชุมไปปรับแก้ไขให้เรียบร้อย และพิจารณารายละเอียดให้ถี่ถ้วน เพื่อนำเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติต่อไป.และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรม ให้เป็นไปตามค่าเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ในตัวชี้วัดร่วม และตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลักมีความสำคัญในการติดตามประเมินผลความสำเร็จ ซึ่งต้องรายงานผลให้ นพช. ทราบ
นอกจากนี้การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน มีความสำคัญ ขอให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในเชิงพหุภาคีให้มากขึ้น และต้องจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยให้ทำการขับเคลื่อนในห้วงครึ่งหลังของแผนการพัฒนาพื้นที่ฯ ขอให้รับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคเอกชน ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเวทีประชาคมหมู่บ้านและชุมชนรวมทั้งการเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกลไกต่างๆ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง