วันนี้ 20 ก.พ.63 ที่โรงเรียนบ้านโป่งเจริญ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการ “ผลการรับประทานไข่ไก่กับผลต่อโภชศาสตร์ระดับโมเลกุลรายบุคคลในเด็กประถมศึกษา” ของ นายแพทย์กรภัทร มยุระสาครและคณะ กลุ่มวิจัยสุขภาพประชาการ และโภชนาการ และหน่วยอณูเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพร้อมมอบทุนการศึกษา มอบอุปกรณ์การเรียน เครื่องกีฬา เสื้อให้กับโรงเรียนและผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยฯจำนวน108 คน
ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.)ได้สนับสนุนงานวิจัยคุณค่าทางอาหารของไข่ไก่เพื่อช่วยเป็นอาหารที่สำคัญของเด็กไทยไม่ให้มีภาวะทุพโภชนาการอีกต่อไป เริ่มที่นักเรียนระดับชั้น ป.3-ม.1 ในพื้นที่ชนบท จำนวน 700 คน ใน 6 โรงเรียน ในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดราชบุรี จังหวัดชลบุรีและจังหวัดนครปฐม โดยให้บริโภควันละ 2 ฟอง/คน เพิ่มไปจากการบริโภคปกติ สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลา 9 เดือน หรือ 2 ภาคการศีกษา ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินโครงการการที่โรงเรียนบ้านโป่งเจริญ และโรงเรียนสวนป่าอุปถัมภ์ อำเภอสนามชัยเขต
นายแพทย์กรภัทร มยุระสาคร อาจารย์ประจำกลุ่มวิจัยสุขภาพประชาการ และโภชนาการ และหน่วยอณูเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเพื่อศึกษาติดตามว่า หากเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาได้รับการบริโภคไข่ไก่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งคิดเป็นจำนวนไข่ที่เพิ่มไปเป็นจำนวนเท่ากับ 360 ต่อคนต่อปี เด็กกลุ่มดังกล่าวจะมีการเจริญเติบโตที่มากขึ้นอย่างไร และมีระดับโปรตีน และคอเลสเตอรอลในเลือดเป็นอย่างไร โดยโครงการวิจัยนี้ได้ติดตามการเจริญเติบโต การบริโภคอาหาร และการเปลี่ยนแปลงชีวเคมี และจุลชีพในร่างกายของเด็กอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี”
“ไข่ไก่ เป็นโปรตีนคุณภาพดี ราคาย่อมเยา และหาได้ง่าย เหมาะกับชนทุกเพศทุกวัย "ด้วยเหตุดังกล่าว การใช้ไข่ไก่ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยจะเป็นการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพของไข่ไก่ในระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม กระบวนการวิจัยดำเนินการ โดยการแบ่งอาสาสมัครออกเป็นสามกลุ่มได้แก่ กลุ่มที่บริโภคอาหารปกติของโรงเรียน กลุ่มที่บริโภคไข่ขาวหรือโปรตีนเทียบเท่าไข่ขาวสองฟองต่อวัน และกลุ่มที่บริโภคไข่แดง หรือเมนูเทียบเท่าไข่แดง เช่น ไข่ดาวลาบ อาสาสมัครทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับไข่ไก่มารับประทานสัปดาห์ละ 5 วันเพิ่มเติมไปจากอาหารปกติที่บริโภคแต่ละวัน
ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า การรับประทานไข่ไก่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การรับประทานไข่ไก่ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มระดับไขมันในเลือดแต่พบกลุ่มที่บริโภคอาหารปกติของโรงเรียน มีปริมาณของคอเลสเตอรอลที่สูงกว่ากลุ่มอื่นประมาณ3-5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 และสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในระหว่างทดลองนั้นจะมีการวัดการเปลี่ยนแปลงภาวะโปรตีนในร่างกาย รวมถึงการคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด การเจริญเติบโต หลังจากนี้ทีมคณะผู้วิจัยจะได้นำตัวอย่างที่ได้ ไปทำการวิเคราะห์โดยละเอียดก่อนที่จะสรุปผลการวิจัยทั้งหมดในต้นปีหน้าต่อไป
ชวลิต ด้วงเงิน/ฉะเชิงเทรา