วันนี้(20 ก.พ. 2563) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รุกโมเดลสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น สร้างนักศึกษาเป็น​ " วิศวกร​สังคม​ " เพื่อการพัฒนา​ประเทศ ผศ.ดร.วัฒนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ควรสร้างระบบแนวคิดแบบใหม่ให้กับนักศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิด “วิศวกรสังคม” ขึ้นมา ซึ่งคำว่าวิศวกรสังคมนั้น จะสร้างให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เป็นระบบมีเหตุและผล สามารถลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงต่อชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรในการพัฒนาประเทศ โดยมีคุณลักษณะหลัก 4 ประการ คือ 1. นักศึกษาต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลเห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย 2. คือการนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างไร สามารถสื่อสารองค์ความรู้ที่เรียนไปเพื่อนำไปแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้ 3. คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถที่จะระดมกำลังไม่ว่าจะภายในท้องถิ่นหรือนอกท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นได้ และ 4. คือต้องมีทักษะในการสร้างนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ ซึ่งนวัตกรรมที่กล่าวมานั้น จะสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ ขั้นตอนในการสร้างวิศวกรสังคมนั้น มหาวิทยาลัยจะให้นักศึกษา เสริมหลักสูตรพัฒนากิจกรรมเช่น การเก็บข้อมูลสังเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย โดยลงไปเก็บข้อมูลจากชุมชนจริงๆ มีการปรับการเรียนการสอนเน้นสอนในชุมชน หลักสูตรนำร่องตอนนี้มี 12 รายวิชา ทักษะทั้ง 4 ประการนี้หากนักศึกษามีติดตัวไปเชื่อว่าหลายๆองค์กรก็ต้องการนักศึกษาที่มีทักษะเหล่านี้เข้าไปทำงานอย่างแน่นอน