ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ คิดเป็นระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น จึงไม่นานเกินรอ ดังนั้นผู้ที่สนใจปัญหาระหว่างประเทศและผลกระทบต่อประเทศไทย จึงเฝ้าติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ไม่ต่างจากประชาชนชาวสหรัฐฯมากนัก สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยสนใจข่าวสารบ้านเมืองทั้งภายในภายนอก ก็อาจจะรู้สึกเฉยๆจนเมื่อเกิดผลกระทบถึงตนจึงจะตื่นตัว ส่วนนักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดหลายคนอาจพอมองเห็นผลสรุปแล้ว แต่อีกหลายคนก็ยังมีความหวังลึกๆว่ามันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตนคาดหวัง อย่างไรก็ตามข่าวคราวการขับเคี่ยวในทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองหลักของสหรัฐฯ 2 พรรค คือ รีพับลิกัน และเดโมแครตก็เริ่มเข้มข้นขึ้น โดยทางรีพับลิกันนั้นเกือบจะแน่นอนแล้วว่าทรัมป์คงจะเป็นตัวยืนในการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 แม้จะมีผู้เสนอตัวออกมาท้าทายบ้างในพรรค แต่พรรครีพับลิกันคงไม่กล้าเสี่ยงเปลี่ยนม้ากลางศึก แม้ว่าคะแนนเสียงของทรัมป์อาจจะลดลงบ้าง จากข่าวการส่งทหารมะกันที่มีอาการป่วยทางสมองไปยังเยอรมนี โดยทหารเหล่านี้ล้วนแต่ประจำการอยู่ในอิรัก และถูกอิหร่านโจมตี ด้วยขีปนาวุธเพื่อเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯลอบสังหารนายพลกอเซ็ม สุลาไมนี ซึ่งภายหลังการถูกโจมตีทรัมป์ประกาศว่าไม่มีอะไรเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่ทางอิหร่านอ้างว่าทำลายฐานทัพสหรัฐฯยับเยิน มีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อย จากนั้นก็เกิดเหตุที่หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านยิงเครื่องบินยูเครนตก และมีผู้โดยสารเสียชีวิตหลายร้อยคน ต่อมาก็มีข่าวกรองทางทหารรายงานว่าได้มีการดำเนินการรบกวนเรดาห์ของอิหร่าน และมีการนำเอาเครื่องบิน F-35 ไปบินหลอกล่อแถบชายแดนอิหร่าน จนทำให้อิหร่านตัดสินใจผิดพลาดคิดว่าถูกโจมตีโดยสหรัฐฯและยิงเครื่องบินพาณิชย์ของยูเครนตก อย่างไรก็ตามต่อมาก็มีข่าวว่าสหรัฐฯได้ส่งทหารมะกันที่มีอาการป่วยทางสมองไปรักษาตัวที่เยอรมัน ตอนแรกก็ไม่ถึง 10 คน แต่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแหล่งข่าวบางสำนักและนักวิเคราะห์ข่าวบางคนอ้างว่านั่นคือการปกปิดการเสียชีวิตของทหารมะกันจากการโจมตีของอิหร่าน เพราะทรัมป์ยังไม่ต้องการเปิดศึกโดยตรงกับอิหร่านในขณะนี้ นอกจากนี้ในระยะต่อมา สหรัฐฯก็มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Low-yield) บนจรวดไทรเด้นท์ที่จะประจำการอยู่บนเรือดำน้ำนิวเคลียร์เทนเนสซี ซึ่งนักวิเคราะห์ข่าวเชื่อว่าอาจใช้ในการเข้าโจมตีอิหร่าน โดยเฉพาะการพยายามจำกัดเขตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และแหล่งสกัดความเข้มข้นของแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ดังนั้นก่อนการเลือกตั้งทรัมป์อาจพยายามหาเสียงโดยการโจมตีอิหร่าน เพื่อเก็บกู้คะแนนเสียงคืน หากข่าวทหารมะกันเสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่านเป็นจริง และถูกเผยแพร่ออกไป ในอีกฟากฝั่งของเกมส์การเมือง พรรคเดโมแครตกำลังอยู่ในกระบวนการคัดสรรตัวแทนเพื่อเข้าแข่งขันกับทรัมป์ ซึ่งในขณะนี้แม้ว่านายแซนเดอร์จะมีทีท่าเป็นผู้นำ แต่นายไมเคิล บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีอดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก 3 สมัย อาจมาแรงแซงทางโค้ง ทั้งนี้เพราะนายไมเคิล บลูมเบิร์ก มีเงินทองมากและมีทีมงานที่เชี่ยวชาญ มีกลวิธีที่ชาญฉลาด จนคนเปรียบเทียบว่าเขาใช้วิธีการของมาเคียเวลลี คือ สุนัขจิ้งจอกคลุมด้วยหนังราชสีห์ นั่นคือการใช้วิธีการจ่ายเงินให้ผู้ที่คัดค้านเงียบเสียง ให้เงินสนับสนุนผู้สมัครเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งกลางเทอมจนได้รับชัยชนะกว่า 20 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงจำนวน 6 คน และนายกเทศมนตรีอีกจำนวนหนึ่ง และบลูมเบิร์กได้จ่ายเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 417 ล้านเหรียญ จากทรัพย์สินกว่า 60 พันล้านเหรียญ เปิดสำนักงานหาเสียงไปแล้ว 125 แห่ง ทั่วประเทศ ที่สำคัญนายบลูมเบิร์กได้เริ่มแผนดำเนินการทางการเมืองมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ยังทุ่มเงินโฆษณาทางทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี บลูมเบิร์กได้กรุยทางที่จะมาถึงจุดนี้นานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่น บิล คลินตัน และ โอบามาในเทอมที่ 2 การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่มีอิทธิพลมากในสังคม แม้แต่การจ่ายเงินอุดหนุนองค์กรไม่หวังผลกำไรต่างๆ อนึ่งบลูมเบิร์ก ได้จ่ายเงินสนับสนุนองค์การ The Center for American Progress ซึ่งเป็นองค์กรของพวกหัวก้าวหน้าให้ถอดส่วนหนึ่งของรายงานที่กล่าวถึงการสนับสนุนตำรวจในนิวยอร์กให้ทำการเฝ้าติดตามประชาคมมุสลิมอย่างเข้มข้นเป็นเวลานับ 10 ปี จนในที่สุดต้องยกเลิกไปเพราะศาลสูงวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีอคติและแบ่งแยกชาติพันธุ์และศาสนา เท่านั้นยังไม่พอบลูมเบิร์กยังได้ดึงเอาผู้นำชุมชนอาฟริกัน-อเมริกัน มาร่วมสนับสนุนเพราะตนเองเคยมีภาพของการเหยียดผิว จากการปราบปรามชาวผิวสีอย่างหนัก ด้วยข้ออ้างของการปราบปรามอาชญากรรมในนิวยอร์ก กระนั้นก็ตามนายบลูมเบิร์กยังมีคดีความอยู่หลายคดีทั่วประเทศที่หน่วยธุรกิจของเขาถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดทางเพศ ด้วยการเหยียดหยามและไม่ให้เกียติสตรีเพศ ดังนั้นนายบลูมเบิร์กจึงต้องสร้างภาพว่าตนเองสนับสนุนกิจการของสตรีด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่ม Emily’s List ที่เคยโจมตีบลูมเบิร์กมาก่อน ที่สำคัญนายบลูมเบิร์กเป็นผู้สนับสนุนในการหาทุนสนับสนุนพรรคเดโมแครตรายสำคัญ จึงย่อมได้รับความเกรงใจ และการสนับสนุนจากกรรมการระดับชาติและบุคคลสำคัญของพรรค นอกจากนี้นายบลูมเบิร์กยังมีคุณสมบัติสำคัญที่แสดงให้เห็นความสามารถในการบริหาร นั่นคือการก่อร่างสร้างตัวมาด้วยลำแข็ง โดยมิได้มาจากตระกูลเศรษฐี ต่างจากทรัมป์ที่ล้มเหลวและล้มละลายมาหลายครั้ง มันจึงเป็นจุดขายสำคัญว่าในพรรคเดโมแครตใครเล่าจะไปสู้กับทรัมป์ได้นอกจากเขา ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา คือ คุณสมบัติส่วนบุคคลของนายบลูมเบิร์ก นั่นคือ โดยเนื้อแท้เขาเป็นคนเหยียดผิว เหยียดเพศ แบ่งแยกทางศาสนา ไม่ได้แตกต่างจากทรัมป์ แม้ไม่บ้าแต่ก็เจ้าเล่ห์ ส่วนนโยบายต่างประเทศนั้นในเวลาเกือบศตวรรณ สหรัฐฯถูกครอบงำการบริหารโดย “รัฐลึก” (Deep State) ที่มีตัวจักรสำคัญคือ กลุ่มไซออนิสต์ (Zionism) ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ย่อมต้องทำตามบงการของ “รัฐลึก” นั่นคือโปรอิสราเอลแทรกแซงและครอบงำทุกประเทศที่ทำได้เพื่อเป็นเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียว ส่วนด้านตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ เอเชียกลาง ก็จะยังคงมีนโยบายเดิม คือ ส่งทหารเข้ามาแทรกแซงตั้งฐานทัพแบ่งแยกและปกครอง จึงไม่ควรคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้ และเงินก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งอยู่ ยกเว้นประชาชนชาวมะกันจะลุกขึ้นมาปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยตนเอง ซึ่งหวังยาก เพราะยังมีคนงมงายอยู่อีกมากที่คิดว่าสหรัฐฯเป็นประชาธิปไตย