QTC เผยผลการดำเนินงานปี 2562 มีรายได้รวม 983.67 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 198.40 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 0.12 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้การขายหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.15 บาท/หุ้น ระบุปี 63 ตั้งเป้ารายได้พันล้านบาท จากการลุยปรับยุทธศาสตร์บริหารจัดการภายใน หวังลดต้นทุนบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมลุยประมูลงานภาครัฐ-เอกชน มูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน)หรือ QTC ผู้ผลิตจัดจำหน่าย และให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.62 บริษัทมีรายได้รวม 983.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.18 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 973.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.05% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 198.40 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีขาดทุนสุทธิ 0.12 ล้านบาท สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ การขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับกระบวนการผลิตต่างๆ ภายใน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับกลยุทธ์ บุกงานต่างประเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพการปรับกลยุทธ์การขาย อีกทั้งการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัท คิวโซลาร์ 1 จำกัด ขนาดกำลังผลิต 8.6 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเสนอผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายปันผลงวดปี 2562 (ม.ค.-ธ.ค.) ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 13 พ.ค.63 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 12 เดือนพ.ค.63 เพื่อดำเนินการจ่ายปันผลในวันที่ 27 พ.ค.63 สำหรับงวดสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มียอดขายหม้อแปลงในมือ(backlog) จำนวนกว่า 420 ล้านบาท แบ่งเป็นงาน จากราชการ จำนวน 150 ล้านบาท งานเอกชน จำนวน 100ล้านบาท และงานต่างประเทศ จำนวน 170 ล้านบาท ซึ่งมูลค่างานในมือดังกล่าวสามารถทยอยส่งมอบสินค้าได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยปี 2563 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะระดับ 1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน และตั้งเป้ามาร์จิ้นสูงขึ้นจากการมุ่งเน้นปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการภายในองค์กร พร้อมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการผลิต การใช้นโยบายลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การเพิ่มความเข้มข้นของกระบวนการให้สินเชื่อ ขณะที่กลยุทธ์เพิ่มยอดขาย บริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีมาร์จิ้นสูงและมีศักยภาพทางธุรกิจ โดยรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ อีกทั้งมีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) มูลค่ารวมประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท พร้อมทั้งบุกตลาดต่างประเทศ เพิ่มทีมขายที่มีประสบการณ์เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิมเพิ่มขึ้นอาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยจะเน้นการประมูลงานที่มีมาร์จิ้นสูง รวมถึงการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานของบริษัท คิวโซลาร์ 1 จำกัด