สีจากปลายพู่กันตวัดเติมแต่งเครื่องแต่งกายงิ้วกำลังร่ายรำบนฝาผนังผืนใหญ่ เป็นตัวละครที่สื่อถึงวัฒนธรรมจีนได้อย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นผลงานการวาดภาพของคณะอาจารย์ นักศึกษา จิตอาสา ที่บรรจงแต่งแต้มขึ้นมาสร้างสีสันให้เมืองสตูล ภาพงิ้วร่ายรำ เป็นภาพใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลเจ้าโปเจ้เก้ง โดยรอบมีหลายอย่างสื่อถึงความเป็นจีน ตั้งแต่เสามังกร ไปจนถึงร้านอาหารจีนในละแวก นายเอกพงศ์ คงฉาง อาจารย์คณะสถาปัตย์ สาขาหลักสูตรทัศนศิลป์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา กล่าวว่า จุดนี้ เป็นจุดที่เกี่ยวกับเรื่องของคนจีน บริเวณที่เป็นศาลเจ้า มีมังกรกลางถนน เป็นจุดศูนย์กลางในการทำศาสนพิธีเกี่ยวกับจีน เพราะในสตูลมีวัฒนธรรมไทยจีน พุทธ และไทยมุสลิม ตรงนี้จึงได้ผนังที่เหมาะกับภาพวาดที่เป็นงิ้วพอดี เลยวาดเป็นภาพงิ้วที่อยู่บนฝาผนังแสดงสีสันสวยงามสดใส สีแดง สีทอง ชาวบ้านให้ความสนใจมาก คนที่ผ่านไปมาสนับสนุนเต็มที่ ช่วยเหลือทั้งเรื่องอาหารการกิน ลำพังจังหวัดสตูลจัดก็เลี้ยงดูแลดีอยู่แล้ว เช้าเที่ยงเย็นมีงานเลี้ยงทุกคืน สุดท้ายชาวบ้านก็ยังช่วยอีก ขนมนมเนยผลไม้แม้กระทั่งของหวาน น้ำดื่มก็มาไม่ขาดสาย ประทับใจมากบางท่านถึงขนาดจอดรถลง ให้ไปรับของกินน้ำดื่มทำให้รู้สึกดีมาก ได้รับเสียงชื่นชม นักศึกษาก็ภูมิใจ ที่ได้มาวาดที่จังหวัดสตูลในครั้งนี้ นายเอกพงศ์ คงฉาง กล่าว. ภาพวาดบนฝาผนัง ที่ถูกเรียกเป็นงานสตรีทอาร์ต มีหลายชิ้นงานภายใต้โจทย์สื่อถึงพหุวัฒนธรรมของชาวสตูล เติมจินตนาการของศิลปินเข้าไป ทำให้ภาพวาดต่างๆเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนได้ มีตั้งแต่ภาพที่ใช้สีอคริลิค โดยใช้พู่กันวาด อย่างภาพว่าวควาย ที่วาดขึ้นโดยศิลปินจากประเทศอิตาลี่ mr.Mauro Corbani โดย Mr.Mauro Corbani กล่าวว่า รู้สึกประทับใจว่าวควาย ในโอกาสได้เห็นการแสดงว่าวควายที่พิพิธภัณฑ์เมืองสตูลในจังหวัดสตูล รู้สึกทึ่งและประทับใจ ตัวเองประทับใจก็คิดว่าคนสตูลคงประทับใจ จึงเลือกวาดภาพนี้ ว่าวมีสีสันสวยงามอยู่แล้วถ้าแต่งแต้มลงไปตามที่ถนัดจะทำให้สวย การทำงานนี้เพื่อคนสตูล นอกจากภาพว่าวควาย ที่เป็นจากวาดจากพู่กันแล้ว ยังมีภาพกราฟฟิตี(graffiti) ใช้สีพ่น คำว่า “สตูล” เป็นตัวอักษรภาษาไทย อังกฤษ จีน ภาษายาวี ภาพนกอินทรีย์กางปีก หญิงสาวมุสลิมคลุมฮิญาบ(คลุมผม) รถโดยสารในท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อย่างเกาะหินซ้อน เรือหัวโทง ถูกแต่งแต้มตามมุมเมืองต่างๆในพื้นที่ ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล อย่างสวยงาม ภาพวาดสตรีทอาร์ตเหล่านี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว รวมถึงน้องๆนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูล กว่า 41 คน เด็กชาย ธัญยธรณ์ พรหมสุวรรณ์ หรือน้องบอส อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นป.6 หนึ่งในนักเรียนที่ลงพื้นที่ดูงานสตรีทอาร์ต ภายใต้วิชาโครงงานฐานวิจัย น้องบอส บอกว่า งานสตรีทอาร์ตเป็นการเล่าเรื่อง ผ่านภาพวาด และเป็นสิ่งที่สวยงามของจังหวัดสตูล 1 อย่าง ทำให้คนในจังหวัดอื่นๆและคนในจังหวัดเราได้รู้ว่าสตูลก็มีสิ่งที่ดีเหมือนกัน การได้มาชมเห็นภาพว่าว ซึ่งจังหวัดสตูลมีประเพณีคือการเล่นว่าว ภาพวาดมัสยิด มัสยิดมำบังกลายเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองสตูล และยังมีเหยี่ยวที่ตามหาได้ทั่วไปเช่น พื้นที่ตำมะลัง คลองมำบัง ก็จะมีอยู่มากมาย นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาอาจจะคิดว่าจังหวัดสตูลไม่มีอะไรแต่จริงๆแล้วมีอารยธรรมที่สวยงาม มีอาหารที่อร่อย ซีฟู้ดอร่อยมากๆครับ อยากให้มาเที่ยวกันเยอะๆ และยังมีตึกชิโนโปรตุกีส ซึ่งอยู่บนถนนบุรีวานิชเป็นถนนสายแรกของจังหวัดสตูลครับ งานศิลปะบนฝาผนังบ้านเรือน เป็นความตั้งใจของผู้จัดซึ่งมี อบจ.สตูล ควบคุมอำนวยความสะดวก ต้องการเติมแต่งเมืองสตูลที่เงียบสงบ ให้มีสีสันคึกคักขึ้นมา เรียกนักท่องเที่ยวให้มาชื่นชม งานศิลปะที่ถ่ายทอดความเป็นพหุวัฒนธรรม ความเป็นสตูล ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และร่วมกันชื่นชม ผลพวงส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นด้วย “เมื่อมีงานสตรีทอาร์ต นักท่องเที่ยวก็เข้ามาชม มาถ่ายภาพทำให้บรรยากาศที่เคยเงียบเหงากลับมาคึกคักอีกครั้ง อย่างในช่วงที่เงียบที่สุดขายอาหารได้วันละ 2,000 บาท ช่วงคึกคักทำให้ขายดีขึ้นวันละ 3,000 บาท” นางอัมพร ลิมะวุฒิกุล เจ้าของร้านอาหารตามสั่งบริเวณศาลเจ้าโปเจ้เก้ง กล่าว. สำหรับโครงการ สตรีทอาร์ต เป็นโครงการเฟส 2 มีศิลปินจิตอาสากว่า 60 ชีวิต ร่วมกันวาดขึ้นมาระหว่างวันที่ 15-19 ก.พ.2563 กว่า 11 จุด ทำให้จังหวัดสตูล มีภาพวาดเพิ่มขึ้นรวม 2 เฟสกว่า 30 ภาพ “ภาพวาดสตรีทอาร์ตจะทำให้เมืองสตูลที่เคยเงียบเหงา กลับมาคึกครั้งอีกครั้งหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ต้องติดตามหลังภาพวาดเสร็จสมบูรณ์”