สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ESO เผยภาพพื้นผิวที่หรี่ลงของดาวบีเทลจุส จากที่เคยโพสต์เอาไว้แล้ว เรื่องของดาวบีเทลจุสในกลุ่มดาวนายพรานที่อยู่ดีๆ ก็หรี่ลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนไม่ติดอันดับดาวสว่าง 20 อันดับต้นอีกต่อไป [3] จนถึงทุกวันนี้ดาวบีเทลจุสก็ยังคงหรี่ลงอย่างต่อเนื่อง จน ณ เวลาที่เขียนนี้ดาวบีเทลจุสเหลือความสว่างเพียง 36% ของความสว่างปรกติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ทีมนักดาราศาสตร์จาก European Southern Observatory (ESO) จึงได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดกล้องหนึ่งบนพื้นโลก เนื่องจากดาวบีเทลจุสเป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า โดยมีขนาดพื้นผิวกลืนไปถึงวงโคจรของดาวพฤหัส หากนำมาวางไว้ที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และด้วยระยะห่างที่ไม่ไกลออกไปมาก จึงทำให้ดาวบีเทลจุสเป็นเพียงดาวฤกษ์หนึ่งในไม่กี่ดวงที่เราสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดของพื้นผิวได้ [2] แม้กระนั้นก็ตาม การสังเกตพื้นผิวของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไปถึงกว่า 700 ปีแสงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย และต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์ เช่น VLT ผ่านทางอุปกรณ์ SPHERE เนื่องจากทีมนักดาราศาสตร์นี้ได้เคยบันทึกภาพของพื้นผิวดาวบีเทลจุสเอาไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ภาพที่ถ่ายเดือนธันวาคม 2019 นี้ จึงเปรียบได้เสมือนกับภาพเปรียบเทียบ "ก่อน" และ "หลัง" การหรี่ลงของดาวบีเทลจุส (ภาพบน) จากภาพ จะเห็นได้ว่าพื้นผิวของดาวบีเทลจุสนั้นไม่ได้ราบเรียบเช่นดวงอาทิตย์ แต่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนและส่วนของพื้นผิวที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว ขนาดที่ใหญ่กว่าของดาวบีเทลจุสบ่งชี้ว่ามันจะต้องมีความหนาแน่นที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก (แม้ว่าจะมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ก็ตาม) การไหลเวียนของก๊าซร้อนที่เกาะกันอย่างหลวมๆ ภายในดาวบีเทลจุสนี้เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาวมีพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอและเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาวมีการแปรแสงไป หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่านี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าดาวบีเทลจุสกำลังจะระเบิดหรือไม่ ดาวยักษ์แดงทุกดวงจะต้องระเบิดขึ้นในวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ และดาวบีเทลจุสเองก็น่าจะเหลืออายุขัยอีกเพียงไม่ถึงหนึ่งแสนปี อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าโอกาสที่ดาวบีเทลจุสจะระเบิดขึ้นในชั่วอายุคนนี้อาจจะมีค่อนข้างน้อย วิธีเดียวที่เราจะทราบได้ก็คือต้องคอยติดตามกันต่อไป แล้วเพราะเหตุใดดาวบีเทลจุสจึงหรี่แสงลงอย่างเห็นได้ชัด? นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแบบจำลองที่เป็นไปได้สองอันก็คือ การเย็นลงอย่างรวดเร็วของพื้นผิวที่เกิดขึ้นจากกลไกภายในดาวฤกษ์ หรือไม่ก็คือการปล่อยฝุ่นหนาทึบมาบดบังในแนวสังเกต อย่างไรก็ตาม เรายังมีอะไรที่ต้องศึกษากันอีกมากเกี่ยวกับดาวยักษ์แดง และเราอาจจะค้นพบอะไรแปลกๆ ขึ้นมาอีกในวันหลังก็ได้ อีกภาพหนึ่งที่บันทึกเอาไว้โดยเครื่องมือ VISIR โดยกล้องโทรทรรศน์ VLT (ภาพล่าง) เปิดเผยให้เห็นถึงรังสีอินฟราเรดที่ถูกปล่อยออกมาโดยฝุ่นที่ล้อมรอบๆ ดาวบีเทลจุส (จุดเล็กๆ ตรงกลางในภาพล่าง) โครงสร้างฝุ่นที่ล้อมรอบนี้เปิดเผยให้เห็นถึงมวลสารที่ถูกสลัดออกมาจากพื้นผิวของดาวยักษ์แดง มีคำกล่าวกันว่า "เรามาจากธุลีของดาว" (We are all made of star stuff) เนื่องจากธาตุในทุกโมเลกุลของร่างกายเรานั้นต้องถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการภายในดาวฤกษ์ทั้งนั้น แต่ว่าธาตุภายในดาวฤกษ์นั้นมาประกอบขึ้นเป็นตัวเราได้อย่างไร "ธุลี" ที่มาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นภายในดาวฤกษ์นั้นมาจากไหน ดาวยักษ์ เช่น ดาวบีเทลจุสนั้นจะมีการปลดปล่อยมวลสารออกมาเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งก่อนที่พวกมันจะระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวา การศึกษาการสูญเสียมวลของดาวยักษ์จะช่วยให้เราตอบคำถามนี้ได้ ภาพ: ESO/M. Montargès et al., ESO/P. Kervella/M. Montargès et al., Eric Pantin cr. มติพล ตั้งมติธรรม อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1] https://www.eso.org/public/news/eso2003/ [2] https://en.wikipedia.org/…/List_of_stars_with_resolved_imag… [3]https://www.facebook.com/…/a.2551016080333…/1177837022426502" ขอบคุณเรื่อง-ภาพ จากเพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page