วันที่ 17 ก.พ.63 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น 3 สมช. ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประวิตร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาการขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุคิริน อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและระงับยับยั้งเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ควบคู่กับ การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป ​นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม อาทิ 1) การกำหนดแนวทาง การลงทะเบียนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีความเหมาะสมเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ 2) การพัฒนาระบบข้อมูลด้านการสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคงในพื้นที่ และ 3) การเร่งรัดบรรจุพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ สมช.นำมติของ กบฉ. ดังกล่าวเรียน นรม.พิจารณาอนุมัติต่อไป พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การขยายระยะเวลาในครั้งต่อไป ขอให้ประเมิน สถานการณ์ในพื้นที่ อย่างละเอียดรอบคอบ และคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถิติการก่อเหตุ จำนวนการสูญเสีย และแนวโน้มสถานการณ์ประกอบกันโดยจะต้องประสานงานร่วมกับ หน่วยงานด้านการข่าว อย่างใกล้ชิดด้วย สำหรับในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ ที่ปรับลดไปแล้ว ขอให้นำมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านการสืบสวนสอบสวนคดี ความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปธรรม รวมทั้ง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดกำหนด ตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของตำรวจภูธรภาค 9 โดยเร็ว ภายหลังที่ สมช. นำเสนอ นายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง ในการเฝ้าระวังและป้องกันมิให้มีการก่อเหตุในพื้นที่ รวมทั้งดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของ ประชาชน ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป