ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง ปืน เป็นอาวุธที่มีอานุภาพในการประหัตประหาร สร้างความเสียหายติดตามมาหลายประการ โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนในทางที่ผิด หรือกรณีที่เป็นอุบัติเหตุ เช่น ข่าวคราวเด็กเอาอาวุธปืนของผู้ปกครองมาเล่นกัน แล้วเกิดลั่น กระสุนปืนถูกเพื่อนซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ การใช้อาวุธปืนกระทำต่อคู่สมรส หรือเพื่อนบ้านเมื่อเกิดเหตุทะเลาะกัน วัยรุ่นเที่ยวตามผับตามบาร์ใช้ปืนยิงกัน เป็นต้น อาวุธปืนจึงเป็นเป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้เป็นใคร อาวุธปืนตกอยู่ในมือของใคร ในทางคดีความหรือการประกอบอาชญากรรมต่าง ๆ มักจะมีเรื่องของปืนเข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะของอาวุธที่ใช้ในการกระทำผิด หรือใช้ประกอบการกระทำผิดในลักษณะต่าง ๆ เช่น การขนยาเสพติด การใช้ข่มขู่ กรรโชก ความผิดต่อเสรีภาพ โดยมีทั้งปืนมีทะเบียน และปืนไม่มีทะเบียน ไม่ได้รับอนุญาต หรือปืนเถื่อน ซึ่งโดยปกติแล้วปืนจะเป็นเครื่องมือของเจ้าพนักงาน แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ผู้ร้ายหรือทุจริตชนก็สามารถหาปืน ครอบครองปืน พาปืนติดตัวได้โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และกลายเป็นเครื่องมือรังแกสุจริตชนหรือเป็นอาวุธต่อกรกับเจ้าพนักงานจนเกิดการสูญเสียติดตามมาโดยตลอด เมื่อเหลือบมองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน ทั้งการมี การพาอาวุธปืน โดยเป็นเรื่องการขออนุญาตในกรณีต่าง ๆ ก็พอเห็นได้ว่า กฎหมายมีรายละเอียดครอบคลุมชัดเจน เหมาะสมในระดับหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าในทางปฏิบัตินั้นได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ครบถ้วนตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ใช้กฎหมายถูกต้องตามเจตนารมณ์หรือไม่หรือมีปัจจัยอื่นใดมาทำให้เบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งเราอาจจะยังไม่ได้คำนึงถึงกรณีเหล่านี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่มองเห็นก็คือ การติดตามตรวจสอบการได้รับอนุญาตของผู้รับอนุญาตนั้นมีสภาพปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ตกอยู่ในสภาวะที่จะก่อให้เกิดการเสี่ยงภัยหรือไม่ มีมาตรการในด้านของมิติการป้องกันปัญหาอย่างไร หรือรอเฉพาะเมื่อมีการกระทำผิดแล้วจึงมาแก้ปัญหา ซึ่งผลกระทบก็อาจจะร้ายแรงเกินเยียวยาได้ เรากลัวบุหรี่ทำอันตราย เรากลัวอาหารหรือยาหมดอายุ เรากลัวคนได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่อาจจะด้อยสมรรถภาพลงไป เรากลัวโรคภัยไข้เจ็บ เรากลัวฝุ่น และพยายามหาทางป้องกัน แต่เราก็มองข้ามอันตรายจากคนมีปืนในภาวะที่สุ่มเสี่ยงหรือมีอารมณ์โทสะที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบัน เราจะพบกับคนที่เครียด คนที่มีปัญหา คนหัวร้อนทุกวันในเหตุการณ์ต่างๆ หลายประเทศในโลกนี้เป็นตัวอย่างให้เราศึกษาได้เป็นอย่างดี เรามีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประชาชนมีสิทธิครอบครองอาวุธปืน แล้วก็เกิดผลติดตามมากรณีประชาชนใช้อาวุธปืนกราดยิงในโรงเรียน ชุมชน เมื่อมีการกบกด หรือทำเพื่อประชดสังคม สังคมมีสมาชิกป่วยทางจิตหรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็แล้วแต่ เรามีประเทศที่เข้มงวดเรื่องอาวุธปืนอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ถือว่าเรื่องปืนเป็นเรื่องร้ายแรง ญี่ปุ่นนั้นเอาจริงเอาจังทำได้ถึงขนาดกลุ่มแก๊งยากูซ่า พวกนอกกฎหมายยังไม่กล้ามีปืนไว้ในครอบครอง เกาหลีใต้ต้องให้เก็บอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตแม้เพื่อการล่าสัตว์ไว้ที่โรงพักหรือตามสถานที่เก็บที่กำหนดไว้ ต่างกับของไทยที่เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลทั้งหลายมีปืนหลายกระบอกล้อมหน้าล้อมหลังดังกองทัพ มีการใช้อาวุธปืนถล่มกันเมื่อไร ประชาชนก็มีสิทธิโดนลูกหลง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบและหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นติดตามมาเรื่อย ๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะกรณีเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม หรืออาชญากรรมร้ายแรงในรูปแบบต่าง ๆ ในสมัยก่อนเราก็ว่า มีปัญหาอาวุธสงครามทะลักทางชายแดนในช่วงมีสงคราม แต่ปัจจุบันเราก็มีปัญหาว่ามิจฉาชีพสามารถมีปืนได้ง่ายเพียงใด คงต้องรีบแก้ไขก่อนสายเกินการ