เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) ได้จัดให้มีการการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับ 5G โดยพบว่า โอเปอเรเตอร์ 5 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี), บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมาเข้าร่วมประมูลพร้อมเพียงกัน โดย บมจ.กสท เดินทางมาถึงเป็นเจ้าแรก ตามด้วย บ.ดีแทคไตรเน็ต , บ.ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซลฯ ,บมจ. ทีโอที และบ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ตามลำดับ ซึ่งแต่ละผู้เข้าร่วมประมูลต่างขนกองชียร์มาร่วมสร้างสีสันในการประมูลครั้งนี้ สำหรับตัวแทนของแต่ละผู้ให้บริการที่ห้องประมูลในครั้งนี้ บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค นำโดย สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ,ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ,ฮุย เวง ชอง และปรัธนา ลีลพนัง ,บ.ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซลฯ นำโดย วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ,นพปฎล เดชอุดม และ อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข ,บมจ. ทีโอที นำโดย รังสรรค์ จันทร์นฤกุล,ฐิติพันธุ์ ธาดาสีห์ และพิพัฒน์ ขันทอง ,บริษัท ดีแทคไตรเน็ต นำโดย ชารัด เมห์โรทรา ,มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น และประเทศ ตันกุรานันท์ และบมจ.กสท นำโดย พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ ,สุรพันธ์ เมฆนาวิน และธันวดี วงศ์ธีรฤทธิ์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ 5G ครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่า หากเรามีการเปลี่ยนแปลงช้า คือ “เราถอยหลัง” หากเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วคือ เราอยู่กับที่ หากเราจะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทันทีและอย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจากประเทศได้มีความล่าช้าด้าน 3G กว่าประเทศอื่น 8 ปี สำหรับ 4G ล่าช้ากว่า 4 ปี แต่วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยการประมูลคลื่นความถี่ มีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 26,376 ล้านบาท ,คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 11,421 ล้านบาท รวมทั้ง 3 ย่านความถี่ มีจำนวนทั้งสิ้น 49 ใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำรวมทั้งสิ้น 73,175 ล้านบาท หลังจากที่มีการประมูลเสร็จแล้ว สำนักงาน กสทช. คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท "5G จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังจะช่วยให้ภาคประชาชนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบทได้ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม อาทิ ด้านการสาธารณสุข ที่จะต้องพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะหรือ smart hospital ที่ประชาชนสามารถรับบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-health และด้านการศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาส และสร้างการเรียนรู้ให้เท่าเทียมกันของเยาวชนในพื้นที่ชนบทผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับพื้นที่เมือง เป็นต้น"