ทั้งดาวอังคาร-พฤหัส-เสาร์-ดวงจันทร์ มาเรียงแถวโชว์ตัวพร้อมกัน พร้อมมีใจกลางทางช้างเผือกเป็นฉากหลัง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “18-21 กุมภาพันธ์นี้ ชวนตื่นเช้าชมพาเหรดดาวเคราะห์ #อังคาร#พฤหัสบดี #เสาร์ มาพร้อม #ดวงจันทร์ เรียงกันช่วงเช้ามืด มีใจกลางทางช้างเผือกพาดผ่านเป็นพื้นหลัง พิกัด : เหนือฟากฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย หากใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 18 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะปรากฏอยู่เหนือสุด เป็นดวงจันทร์เสี้ยว ข้างแรม 9 ค่ำ ถัดลงมาเป็นดาวอังคาร ห่างกันประมาณ 7 องศา และดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ตามลำดับ เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03:10 น. จนถึงรุ่งเช้า 19 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาปรากฏอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี 20 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาอยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ในวันนี้ดวงจันทร์จะปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างเพียง 2 องศา สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04:20 น. จนถึงรุ่งเช้า 21 กุมภาพันธ์ 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งลงมาอยู่ล่างสุด ปรากฏใกล้ดาวเสาร์ ห่างประมาณ 5.3 องศา สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05:00น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ปรากฏบนฟากฟ้าพร้อมกัน และเรียงเป็นแนวเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก ส่วนมุมมองจากอวกาศจะพบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างโคจรกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติทางดาราศาสตร์