อัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ระบุว่า ... กรณ์ จาติกวณิช “กล้า”มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึง“กล้า”ดี ตั้งพรรค”กล้า”สู้ศึกการเมืองที่แสนจะวุ่นวาย ............................................................................ “ผมเองยึดหลักในการตั้งพรรคใหม่ว่าหลักของเราคือหลักปฏิบัตินิยม (Pragmatism)” เป็นคำพูดของ กรณ์ จาติกวณิช ที่สามารถบอกบุคลิกและแนวความของเขาได้อย่างชัดเจน ............................................................................ เนื่องจากวันนี้เป็นวันก่อตั้ง”พรรคกล้า”อย่างเป็นทางการ ผมขอเล่าประวัติของคุณกรณ์ย้อนประวัติศาสตร์ ว่าคนตระกูลจาติกวณิช “กล้า”ดีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กรณ์ จาติกวณิช มีพ่อที่สืบเชื้อสายมาจากผู้ที่เกือบจะหยุดยั้งการปฏิวัติของคณะราษฏร์ได้สำเร็จ และมีแม่ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครเวียงจันทร์ประเทศลาว ............................................................................ กรณ์ จาติกวณิช เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ที่ Princess Beatrice Hospital ถนน Brompton ประเทศอังกฤษ มีชื่อเล่นว่า "ดอน" เป็นบุตรคนกลางของ นายไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เริ่มเรียนที่โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ และไปจบที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน แล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่ วินเชสเตอร์ คอลเลจ และในที่สุดสำเร็จ ปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับสอง) ที่ เซนต์จอห์น (St.John's) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ประเทศอังกฤษ เรียนจบแล้วเริ่มงานด้วยตำแหน่งผู้จัดการกองทุน บริษัท เอส จี วอร์เบิร์ก (S.G. Warburg & Co.) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อายุ 24 เดินกลับประเทศไทย ขอเงินพ่อมาได้ 50 ล้านเพื่อก่อตั้งบริษัท แต่ระหว่างเดินสายหาผ้ร่วมทุน เคยโดนสบประมาทโดยนักธุรกิจชื่อดัง ว่าจะไปไม่รอด เพราะในขณะที่อายุเพียง 24 แต่กรณ์พูดกับตัวเองในใจว่า “เดี๋ยวกูจะทำให้ดู” แล้วเขาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ หลังจากก่อตั้งแล้วก็นั่งเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัยเพียง 24 ปี ............................................................................ อายุ 40 ปี กลายเป็นหนึ่งในจอมยุทธ์ทางการเงินที่ไร้เทียมทาน ที่บรรลุฝันทุกอย่างทางธุรกิจ จึงแสวงหางานใหม่ที่ท้าทาย พร้อมทั้งสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาช่วยพัฒนาชาติได้ จึงข้ามจากแวดวงธุรกิจการเงิน สู่แวดวงการเมือง และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง โดยได้ฝากผลงานแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสะท้านโลก จำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ในปี 2552 ซึ่งจะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ทั้งด้านการขนส่ง/Logistic ด้านทรัพยากรน้ำและการเกษตร ด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว โดยโครงการสำคัญซึ่งเป็นที่จดจำและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคือ “เช็คช่วยชาติ” โดยการแจกเงิน 2,000 บาท ให้ผู้มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากผลงานดังกล่าวในที่สุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553 นิตยสาร The Banker นิตยสารชั้นนำของประเทศอังกฤษ คัดเลือกให้กรณ์ จาติกวณิช เป็น "รัฐมนตรีคลังโลก ปี 2010" และ "รัฐมนตรีคลังเอเชียแห่งปี 2010" โดยคัดเลือกจากรัฐมนตรีคลังในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ............................................................................ “จาติกวณิช” ผู้ที่เกือบจะหยุดยั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรได้สำเร็จ ตระกูล“จาติกวณิช" สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาสู่สยาม และได้รับพระราชทานนามสกุลสมัยรัชกาลที่ 6 สาเหตุที่นามสกุลลงท้ายว่า “วณิช” เพราะพระยาอธิกรณประกาศผู้ขอพระราชทานนามสกุลสืบเชื้อสายมาจากคุณปู่ คือ พระอภัยวานิช (จาด) ผู้ที่อยู่ในสกุลพ่อค้า พระยาอธิกรณประกาศผู้นี้ คือ”ผู้ที่เกือบจะหยุดยั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ.2475 ได้สำเร็จ” แต่ฟ้าอาจจะไม่เป็นใจ และดวงเมืองอาจจะโดนลิขิตเอาไว้แล้ว ............................................................................ “พระยาอธิกรณ์ประกาศ” (หลุย จาติกวณิช หรือ ซอเทียนหลุย) พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดมากกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 พระองค์เจ้าสายมีหลานคนโปรด ที่เป็นลูกของน้องสาว และขอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อ ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย ซึ่งต่อมาได้เจริญยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ เจ้าพระยาสีหศักดิ์เขียนเล่าประวัติของท่านในตอนหนึ่งว่า เมื่อเล็กนั้นได้เริ่มเรียนหนังสือไทยและอังกฤษที่โรงเรียนในวังของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แถวๆ คลองผดุงกรุงเกษม นักเรียนมีราว 6-7 คน ซึ่งเป็นลูกและหลานของพระองค์เจ้าสาย แต่มีสามัญชนคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าสัวซึ่งสนิทสนมรักใคร่เป็นอย่างดีกับพระองค์เจ้าสาย ลูกเจ้าสัวคนนี้มีชื่อจีนว่า “ซอเทียหลุย” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นายหลุย จาติกวณิช” รับราชการต่อมาจนได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ นายหลุยเรียนหนังสือในวังของพระองค์เจ้าสายจนโรงเรียนยุบเลิกไปเพราะขาดครู นักเรียนหลายคนจึงต้องย้ายมาเรียนกันที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เรียนจบแล้วเริ่มทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอเนียว ก่อนจะลาออกมารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ กรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล และได้เลื่อนยศและตำแหน่งเป็นลำดับ สุดท้ายได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ............................................................................ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจและข้าราชบริพารใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ถวายรายงานต่อพระองค์ท่านถึงรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎร ที่มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบ้านเมือง แต่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่ามีศักยภาพเพียงพอ แต่ทางตำรวจโดยพระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ยังได้ส่งตำรวจภูบาล (ตำรวจสันติบาล ในปัจจุบัน) เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎรอย่างใกล้ชิดถึงบริเวณหน้าบ้านพัก ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้รับรายงานเรื่องการปฏิวัติ ขณะที่นอนหลับอยู่ในบ้านพัก เมื่อสายตำรวจรายงานเข้ามาว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข ไว้ได้หมดแล้ว ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นตำรวจรวมกับข้อมูลที่มี จึงประมวลเหตุการณ์เรื่องราวได้ทั้งหมด ว่ากำลังจะเกิดการปฏิวัติ จึงตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วังบางขุนพรหมทันที พร้อมกำลังตำรวจ เพื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในขณะนั้นมีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยลาดตระเวนดูอยู่ เมื่อเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯทรงทราบ แต่ก็ยังทรงลังเลและกำลังจะทรงหนีทางท่าน้ำหลังวังพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง ทันใดนั้นพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังก็บุกมาถึงวังบางขุนพรหม ฉากบู๊ก็เริ่มขึ้นเมื่อพระยาอธิกรณ์ประกาศ ชักปืนยิงต่อสู้ แต่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ขอให้วางปืน เพราะไม่อยากให้คนไทยเสียเลือดฆ่าฟันกันเอง แล้วฉากบู๊ก็จบลงจากความชุลมุน อย่างรวดเร็วและง่ายดาย หลังจากนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ถูกควบคุมตัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นที่บัญชาการของคณะราษฎร เฉกเช่นเจ้านายพระองค์อื่น และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย ............................................................................ พระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นคนแรกที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวของคณะราษฏร์และก็เป็นข้าราชการคนแรกที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของผู้รักษาพระนคร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร และได้ประกาศให้ พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) ขึ้นมารักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจแทน ............................................................................ พระยาบุเรศผดุงกิจ คือใคร? พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) เป็นบุตรของ นายขำ และนางบุญรอด ซึ่งสืบเชื้อสายโดยตรงจากราชตระกูลเวียงจันทน์ (เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์) โดยนายขำเป็นหลานตาของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ มีมารดาชื่อ เจ้าหนูจีน เป็นธิดาลำดับที่ 18 ในจำนวน 23 คน ของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อพระเจ้าอนุรุทราชถูกถอดถอนจากการเป็นกษัตริย์ลาว และถึงแก่พิราลัยเมือ พ.ศ. 2371 แล้ว บุตร ภริยา บริวารที่ถูกกวาดต้อนควบคุมตัวมาจากเวียงจันทน์ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ใด พระยาบุเรศผดุงกิจสมัครเป็นตำรวจ เพราะมีพี่เขยซึ่งเป็นสามีพี่สาวคนโตทั้งสองคนคือ นางปลั่ง และนางผ่อง เป็นภริยาตำรวจ เริ่มรับราชการในตำแหน่งพลตำรวจเสมียน พลตระเวนประจำสถานีตำรวจนครบาลสามยอด และตำแหน่งสูงสุด คือ ได้รับแต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมตำรวจ สืบต่อจาก พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2475 พระยาบุเรศผดุงกิจ มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางรัมภา ซึ่งเป็นบุตรีลำดับที่ 11 ในจำนวนบุตรและบุตรี 19 คน ............................................................................ หลังจาพระยาอธิกรณ์เสียชีวิต ไกรศรี จาติกวณิช บุตรชาย ก็พบรักและแต่งงานกับ นางรัมภา ธิดาของพระยาบุเรศผดุงกิจ ถือเป็นตำนาน Romeo and Juliet ฉบับปฏิวัติสยาม และให้กำเนิด “กรณ์ จาติกวณิช” ในเวลาต่อมา ............................................................................ พระยาอธิกรณ์ประกาศ เป็นคนแรกที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวของคณะราษฏร์ และไปแจ้งกับสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ประธานอภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เพื่อขออนุญาตการจับกุม แต่ไม่ทรงเชื่อรายงานและไม่อนุมัติหมายจับ สุดท้ายกลับเป็นฝ่ายถูกจับเสียเอง และถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันเดียวกันนั้นเอง จนวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2475 จึงมีก็ถูกปลดออกราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ นับอายุราชการได้ 33 ปี 7 เดือนเศษ เมื่อออกรับพระราชบำนาญแล้ว ได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านด้วยการทำงานอดิเรก คือ ปลูกต้นไม้ และเลี้ยงไก่ จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 ก็ล้มป่วยเป็นไตพิการกำเริบ และถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 สิริอายุได้ 78 ปี ............................................................................ พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีบุตรที่มีชื่อเสียงหลายคน คือ • นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล • นายเกษม จาติกวณิช หรือ "ซูเปอร์เค" เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเป็น ประธานรถไฟฟ้า BTS เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเซ็นต์สตีเฟ่นฮ่องกงกับนายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี • ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไกรศรี จาติกวณิช เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กับ นายอานันท์ ปันยารชุน และ ดร.อำนวย วีรวรรณ ............................................................................ ไกรศรี จาติกวณิช คือบิดาของ กรณ์ จาติกวณิช อดีตประธาน บริษัทเจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ประธานบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม จำกัด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช คนดี มีการศึกษา มีชาติตระกูล มีผลงาน มีความ”กล้า” ............................................................................ อัษฎางค์ ยมนาค รวบรวม เรียบเรียง #กรณ์ #พรรคกล้า ที่มา: วิกิพีเดียและกูเกิล
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก - อัษฎางค์ ยมนาค