คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น เฝ้าสังเกตการณ์มานานเรื่อง “ความแตกแยก” ในหมู่คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธด้วยกัน แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ความเป็นชาวพุทธของคนไทย เป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนจริงๆ เพราะไม่มีความเมตตา (ไม่มีการเจริญเมตตา) แม้ในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ล่าสุด มีนักการเมืองท่านหนึ่งจุดประกายเหมือนเป็นการตั้งใจแน่วแน่ที่จะรบกับคนไทยด้วยกันอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยวาทกรรม “ชังชาติ” ขึ้นมาอีก คือเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนเกลียดชังชาติ หรือประเทศของตัวเอง ก็เลยมานึกถึงความพยายามของคนไทย (อีกส่วนหนึ่ง) ที่จะให้คนไทยทั้งมวลหยุดความแตกแยกด้วยคำว่า “สามัคคี” และ “ปรองดอง” ด้วยวิธีต่างๆ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล มานึกว่า ความแตกแยกที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน เป็นอาการร้าวลึกอยู่ จะว่าเป็นเพราะความเชื่อหรือความเห็นต่างทางการเมือง ก็ย่อมได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ประเทศไทยสมัยต่อไปนี้เลือกที่จะอยู่กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่อยู่ในระบอบการปกครองอื่นใด และดูเหมือนว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็เลือกที่จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แม้บางประเทศจะเป็นประเทศ “สังคมนิยม” หรือเป็น “คอมมิวนิสต์” ก็เอาวิธีการของระบอบประชาธิปไตยไปใช้อยู่ อย่างไม่มีทางที่จะใช้วิธีการอย่างสมัยโบราณได้ และดูเหมือนจะมีเงื่อนไขอีกว่า ถ้าประเทศไม่มีความมั่นคงทางการเมืองอันหมายถึงมีประชาชนเป็นผู้เห็นชอบเป็นสำคัย ก็จะกระทบถึงการค้าขายกับประเทศอื่นๆอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเล็งถึงความเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่จะคบหาอยู่ ค่อนข้างจะ “แอนตี้” ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย โลกในสมัยปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะไหลไปทางประชาธิปไตยมากขึ้น สังเกตได้จากทิศทางการศึกษาของประเทศต่างๆ เฉพาะประเทศไทย ก็มีกระบวนการสอนและการกระทำกิจกรรมของเด็กๆ ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับไปในทางส่งเสริมประชาธิปไตยทั้งสิ้น จึงคิดว่า จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่จะอยู่ข้างประชาธิปไตยมากขึ้นๆ วิธีคิดของคนไทยรุ่นใหม่ นับวันจะแนบแน่นไปทางประชาธิปไตย อย่างแน่นอน แล้วก็จะเกิดความคิดอันแตกต่างกันของคนในชาติอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่า ในที่สุด คนรุ่นใหม่ของไทย ก็จะได้ปกครองบ้านเมืองและทำบ้านเมืองไปตามแนวทางใหม่ๆ อันตนได้รับมาจากการศึกษาเล่าเรียนนั่นเอง เข้าใจว่า ระหว่างนี้เอง ได้เกิดความแตกแยกแย่งอย่างรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะกันให้ได้ ได้สังเกตเห็นว่า การเอาแพ้เอาชนะกันที่เป็นไปอยู่ มีการใช้วิธีสกปรกต่อกันด้วย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการหาวิธีสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติด้วยวิธีแปลกๆ เช่น ด้วยวาทกรรม (สร้างคำพูดให้เกิดความเชื่อหรือความรู้สึกร่วมกัน) ด้วยการแบ่งสี (เอาสีใดสีหนึ่งมาเป็นสีปลุกใจผู้คน) ด้วยการเอาสัญลักษณ์ของชาติมาเป็นของฝ่ายตน เช่นเอาสัญลักษณ์ของธงไตรรงค์ (ธงชาติ) มาปลุกใจให้คนรักชาติอย่างตน ฯลฯ แม้แต่การทุบทำลายสิ่งก่อสร้างที่เคยมีในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นการแบ่งแยกคนไทยออกเป็นสองฝ่าย ก็ทำกันอยู่ เมื่อมีข่าวว่าที่ทำการของ “ศาลฎีกา” ข้างสนามหลวง อันมีประวัติสำคัญอยู่ ก็ดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะเอาแพ้เอาชนะกันอย่างลึกซึ้ง สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนไม่น้อย จึงมานึกว่า วิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง น่าจะมีการพิจารณรมากกว่าการคิดแต่จะสร้างความสามัคคีและความปรองดอง ที่กำลังทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเอา “สี” เอา “สถาบัน” เอา “สัญลักษณ์” ฯลฯ หรือใช้วิธีการอื่นใด ที่ยังผลให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติน่าจะมีการป้องปรามด้วยกฎหมายได้ ผมไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมหรือคำพูดแปลกๆ หรือการใดๆที่นำไปสู่ความแตกแยกขึ้นในชาติ แม้แต่การเนรเทศ “คนอื่น โดยคนไทยด้วยกัน ให้ไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่น จนมี “ผู้ลี้ภัย” ที่เป็นคนไทย อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “กฎหมาย” หรือ “กระบวนการยุติธรรม” ก็อาจสร้างความแตกแยกได้ ถ้าเห็นว่ามีกฎหมายอย่างนั้น หรือมีกระบวนการยุติรรม (ที่ไม่ยุติธรรม) อย่างนั้น อันนำไปสู่ความแตกแยกไม่ควรจะให้มีโดยเด็ดขาด เคยมีการชุมนุมทางการเมืองที่ยีดเยื้ออยู่หลายวัน ทำให้ร้านรวงและอาคารบ้านเรือนริมถนนที่เขายึดเป็นที่ชุมนุม เราก็พิจารณาเฉพาะด้านเสรีภาพทางการเมือง ลืมว่ามีคนเดือดร้อนที่ริมทาง มีคนป่วยไข้ที่การชุมนุมนั้นทำให้เขาตายเร็วขึ้น หรือร้านอาหารในบริเวณนั้น ต้องปิดกิจการ หรือเด็กๆ ในบ้านเรือนแถวนั้นไม่เป็นอันหลับนอนหรือไปโรงเรียนได้ อยากให้การชุมนุมนึกถึงคนที่จะได้รับความเดือดร้อนด้วย การออกกฎหมายห้ามการชุมนุม คงทำไม่ได้ แต่อยากให้การชุมนุมไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน อยากให้ฝ่ายบ้านเมือง (คือรัฐบาล) คิดอ่านในเรื่องนี้ การเรียกร้องหาความสามัคคีและความปรองดอง รวมถึงการคิดหาวิธีอัน (คิดว่า) แยบยล อย่างการปฏิรูป น่าจะถึงทางตันแล้ว อยากให้พิจารณาที่ “ต้นเหตุ” ของความแตกแยก แล้วพิจารณาออกกฎหมายช่วยดูแล อะไรที่นำไปสู่ความแตกแยก ให้มีกฎหมายห้ามปรามหรือให้มีกฎหมายลงโทษการกระทำใดๆ ที่นำไปสู่ความแตกแยก (คือทั้งป้องปรามและจัดการแก้ไขด้วยกฎหมาย) วิธีการเนรเทศคนไทยให้ไปอยู่ที่อื่นเมืองอื่น น่าจะไม่ถูกต้องเพราะยิ่งจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นในชาตินั่นเองยิ่งสมัยปัจจุบันที่การสื่อสารทันสมัยมากขึ้น ยิ่งทำให้เสียงก่นด่าดังได้ไกลยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติทุกวันนี้ ไม่สมกับที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ นับวันแต่จะเพิ่มความแตกแยกขึ้นไปอีก เป็นการฟ้องตัวเองว่า ไม่ได้เป็นชาวพุทธแต่อย่างใด เป็นชาวพุทธแต่ในนามเท่านั้น เขียนมาวันนี้ เพราะนึกเป็นห่วงว่า จะมีการใช้ธงธรรมจักร อันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา (ไทย) โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วความแตกแยกก็จะเกิดรอยร้าวอย่างใหญ่ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะดูเหมือนว่า คนไทยจะปลุกง่ายในเรื่องอย่างนี้ เชื่อไหมว่า แม้แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ก็ทำท่า จะสร้างความแตกแยกขึ้นได้ เพียงเพราะมีความเชื่อกันคนละอย่าง ประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน ทำท่าจะยึดมั่นกับหลักฐานทางโบราณคดีแล้วเราจะเอาเรื่องราวใน “ตำนาน” ที่คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังไว้ที่ไหน? ผมมีความเห็นว่า การอพยพของชนชาติไทย ที่ฝรั่งบอกว่ามาจากเทือกเขาอัลไตนั้น ก็น่ารับฟังไว้ เพราะอาจเป็นไปได้ว่า เคยเกิดโรคระบาดแถวๆ เมืองจีนด้านเทือกเขาอัลไตอย่างเดียวกับโรคระบาดที่อู่ฮั่นก็เป็นได้ แล้วมีการอพยพ “หนีตาย” ครั้งใหญ่มายังที่ที่ปลอดภัย เรื่องอย่างนี้ ไม่มีเป็นหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้? ผมเห็นว่า เรื่องราวในตำนานของท้องถิ่นต่างๆ เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องเล่าในนิทานชาดกที่แสดงร่องรอยแห่งอดีตกาลไว้มากมาย เรื่องราวเหล่านั้นไม่มีหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็มีเรื่องเล่าที่ต่างไปจากปัจจุบันให้ได้ศึกษาในแง่มุมต่างๆ เป็นอันมาก ความแตกแยก (ทางความคิด-ความเชื่อ) ในปัจจุบันเป็นความแตกแยกที่มีรอยลึกอย่างยิ่ง ไม่อาจจะฆ่าหรือทำลายคนที่มีความคิดและความเชื่อที่ต่างออกไปให้หมดได้ การเข้ายึดครอง (เอาแพ้เอาชนะกัน) ด้วยสงคราม จึงประสบความล้มเหลวมาทุกสมัยจะเห็นได้ว่า สงครามทางศาสนาระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์ กับ นิกายคาทอลิกของคริสต์ศาสนา ซึ่งกินเวลาถึง 30 ปี ในที่สุดแม้มีการล้มตายของคนมากมาย คริสต์ศาสนาทั้งสองนิกายก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู (หรือลัทธิพรหมณ์) แม้จะถูกสงครามล้มล้างได้ ก็กลับคืนมาแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พุทธศาสนาจักเสื่อมสิ้นไปก็โดยพุทธบริษัทหรือชาวพุทธเอง ศาสนาอื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นความคิดความเชื่อที่อยู่ลึกในจิตใจของคน ในสมัยโบราณ (แม้แต่ในสมัยพุทธกาล) จึงไม่ใช้วิธีเอาแพ้เอาชนะด้วยการบังคับ สร้างความแตกแยกเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน เพราะความแตกแยกและความแตกต่างมีอยู่แล้วในความคิดและความเชื่อของคน เห็นแต่มีการใช้ความพยายามที่จะสร้างความสามัคคีและความปรองดอง ด้วยวิธีบังคับ หรือด้วยวิธี “ปฏิรูป” ต่างๆ กันอยู่ แต่ก็ดูเหมือนจะล้มเหลว จึงอยากให้พิจารณาที่รากเหง้าของความแตกแยกอันแท้จริง แล้วหาทางบรรเทากันใหม่