ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์ทุกคนย่อมล้วนมีอดีตที่ผ่านการถูกกระทำ...ทั้งด้วยชะตากรรมที่มิอาจปกป้อง และทั้งด้วยอุบัติการณ์จากปัจจุบันขณะที่อยู่เหนือการคาดคิด มันคือแรงเหวี่ยงที่จับโยนชีวิตเข้าสู่บ่วงบาปที่โหดร้ายอันยากจะฟื้นตัว /เหตุนี้อดีตในความเป็นชีวิตของแต่ละคนจึงมีรสชาติที่อาจเป็นได้ว่ามันยากจะกล้ำกลืน/จนกว่าจะมีโอกาสได้ชำระบาปนั้นหรือได้สัมผัสเนื้อแท้แห่งแก่นสารอันชวนขมขื่นนั้นด้วยปัญญาญาณอันถึงพร้อมด้วยข้อตระหนักที่ได้ปลดปลงแล้ว/และนี่คือเบ้าหลอมสำคัญในความหมายของการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตวิญญาณ/ที่จะไม่ทำให้พิษร้ายแห่งโชคชะตาได้มีโอกาสเดินหน้าต่อไปอย่างหลงระเริง/จนเป็นการเข่นฆ่าภาวะที่ดีงามของความเป็นมนุษย์ไปเสียสิ้น” ผลกระทบทางความรู้สึกที่ได้จากการอ่านหนังสือแห่งการเดินทางของนักสู้กู้เสรีภาพสู่ผู้เยียวยาในนามของ “เยียวยาอดีต”(REDEEMING THE PAST)เล่มนี้ถือเป็นรากเหง้าทางความคิดต่อการพินิจพิเคราะห์บริบทแห่งความขาดวิ่นของยุคสมัยในความเป็นตัวตนที่เปราะบางทางทัศนคติของผู้คน ณ วันนี้.. “บาทหลวง ไมเคิล แลปสลีย์” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้โยงใยบทบาทชีวิตของเขากับชะตากรรมที่รุกล้ำและโบยตีชีวิตของเขาอย่างโหดร้ายรุนแรงเมื่อปีค.ศ.1990/มันคือปฐมบทของการเยียวยาที่เปรียบได้ดั่งการแตกสลายที่ค่อยๆกระเสือกกระสนสู่การเยียวยาที่เหมือนว่าได้ตั้งอยู่เหนือชัยชนะใดๆ...ในที่สุด.. * ปี 1990/30ปีล่วงมาแล้ว! ..บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ นักบวชนิกายแองกลิกัน ผู้มีบทบาทแข็งขันในการต่อต้านระบอบเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ เปิดจดหมายระเบิดที่เกือบคร่าชีวิตเขา แม้จะรอดชีวิต แต่แรงระเบิดทำให้เขาต้องเสียมือทั้งสองข้าง และนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง ...เหตุนี้...บันทึกเล่มนี้จึงบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์อันน่าสยดสยองนี้ /โดยเริ่มต้นจากการเดินทางที่นำเขาไปที่นั่น โดยเฉพาะความตระหนักที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเสียงเรียกร้องอย่างรุนแรงตามคำสอนของพระเจ้า แต่การที่เขามีอัตลักษณ์มากขึ้นในการต่อสู้เพื่อปลดแอก แต่นั่นไม่ใช่จุดแห่งการเดินทางตามแรงบันดาลใจของเขา/ยุคหลังระบอบเหยียดผิวที่แอฟริกาใต้/บาทหลวงไมเคิลเห็นว่าทั้งประเทศต้องได้รับการเยียวยา/และเขาได้ค้นพบเสียงเรียกร้องใหม่ นั่นคือการเอาประสบการณ์แห่งบาดแผลทางจิตใจของตนเองมาใช้/...เพื่อส่งเสริมการเยียวยาผู้อื่น ทั้งในแอฟริกาใต้ และประชาชนผู้มีบาดแผลทางใจทั่วโลก “วันนั้นตรงกับวันที่28เมษายน 1990 ข้าพเจ้าเพิ่งนั่งลงที่ห้องนั่งเล่นในฮาราเร ด้วยความรู้สึกเป็นสุขและอ่อนเพลียเล็กน้อยหลังงานอำลาน่ารักที่เพื่อนๆ จัดเลี้ยงส่งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเสียใจที่ต้องจากพวกเขา และจากฮาราเร เมืองหลวงที่เป็นบ้านของข้าพเจ้ามานานหลายปี แต่ข้าพเจ้าเฝ้าคอยไปรับงานใหม่ในตำแหน่งอธิการโบถส์ที่บูลาวาโย เมืองใหญ่อันดับสองของซิมบับเว/..ขณะพูดคุยกับ แอนดรูว์ มูติชวา ชายหนุ่มผู้อยู่ร่วมบ้าน/ข้าพเจ้าเอื้อมมือไปที่กองพัสดุที่วางระเกะระกะ และยังไม่ได้เปิดดู จากนั้นหยิบซองกระดาษมนิลาขนาดใหญ่ที่เพิ่งส่งมาถึงจากแอฟริกาใต้/ข้างในของข้าพเจ้าพบนิตยสารเกี่ยวกับศาสนาสองเล่ม...เล่มหนึ่งเป็นภาษาแอฟริกัน อีกเล่มหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ /เมื่อฉีกพลาสติกที่หุ้มออก...ข้าพเจ้าเปิดนิตยสารฉบับภาษาอังกฤษ และมันทำให้วงจรระเบิดทำงาน..” ผลจากแรงระเบิดในครานั้น ทำให้.... “แรงระเบิดกระแทกตัวข้าพเจ้าเต็มที่ ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนถูกจับโยนไปไว้ข้างหลังราวกับกำลังดิ่งสู่เหวลึกมืดมิดไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าแก้วหูของข้าพเจ้าไม่แตก ข้าพเจ้าต้องได้ยินเสียงเพดานถล่มลงมารอบตัว ถ้านัยน์ตาข้าพเจ้าไม่บอด ข้าพเจ้าคงได้เห็นสภาพในห้องนั่งเล่นเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง แต่เพราะแรงระเบิดนั้นทำให้ข้าพเจ้าหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของความเงียบ ความมืด และความเจ็บปวดแสนสาหัส ข้าพเจ้ารู้โดยสัญชาตญาณว่าถูกวางระเบิดโดยระบอบการเหยียดผิว ข้าพเจ้าทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และจำว่าได้แผดเสียงใส่กลุ่มคนแปลกหน้าที่วิ่งออกจากโรงแรมและข้ามถนนมาช่วยข้าพเจ้าว่า.. “พ่อเป็นสมาชิกพรรคเอเอ็นซี คุณต้องหาทางช่วยพ่อ”..เวลานี้ข้าพเจ้ากลับคิดว่ามันเป็นโชคที่ข้าพเจ้ามองไม่เห็น เพราะมันช่วยปกป้องข้าพเจ้าจากภาพที่นองไปด้วยเลือด และสภาพที่มือกุดด้วนทั้งสองข้าง ห้องทั้งห้องพังทลายเกือบทั้งหมด บนพื้นและเพดานเหนือบริเวณที่ข้าพเจ้านั่งเต็มไปด้วยรูโหว่และรอยแยกขนาดมหึมา ใครที่ได้เห็นอานุภาพการทำลายล้างนั้น คงยากที่จะเข้าใจได้ว่า...ข้าพเจ้ารอดมาได้อย่างไร” เรื่องราวของแอฟริกาใต้เป็นคติสอนใจให้กับโลกที่ต้องการความหวัง หลังการต่อสู้อันยาวนานและขมขื่น ระบบของลัทธิแบ่งแยกเชื้อชาติที่ได้รับการสนับสนุนตามรัฐธรรมนูญต้องยอมเปิดทาง การเหยียดผิวถึงจุดจบ และระบอบประชาธิปไตยของคนหลากสีผิวได้อุบัติขึ้น เป็นชัยชนะที่มีต้นทุนสำหรับประเทศชาติและตัวของบาทหลวงไมเคิลเอง..การเดินทางของบาทหลวงเป็นกระจกสะท้อนถึงประเทศที่ท่านเลือกอาศัยอยู่แม้ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิดของท่านก็ตาม/ในฐานะนักบวชหนุ่มแห่งนิกายแองกลิกัน ผู้มีบ้านเกิดที่นิวซีแลนด์ บาทหลวงไมเคิลถูกศาสนจักรส่งให้ไปประจำอยู่ที่แอฟริกาใต้ในช่วงที่การกดขี่ของความเชื่อ ที่ว่าคนขาวเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่นในโลกกำลังครอบงำประเทศในระดับสูงสุด บาทหลวงไมเคิลเข้าร่วมต่อสู้เพื่อการปลดแอก และต้องตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกเนรเทศ และกลายเป็นหนามยอกอกของระบอบการเหยียดผิว/ “มีผู้ส่งระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์มาถึงข้าพเจ้าที่ส่งผลให้ข้าพเจ้าสูญเสียมือทั้งสองข้าง และดวงตาอีกข้างหนึ่ง/แต่ไม่สามารถคร่าชีวิตข้าพเจ้า เช่นเดียวกับความโหดเหี้ยมของระบอบเหยียดผิวที่ไม่สามารถกำจัดความปรารถนาของประชาชนชาวแอฟริกาใต้ได้ ข้าพเจ้ากลับไปที่แอฟริกาใต้ที่ซึ่งไม่นานนักข้าพเจ้าก็ได้เห็นว่า ทุกคนล้วนถูกทำลายโดยการปกครองด้วยการเหยียดผิวมานานปี และต่างมีเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง /ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำหน้าที่ผู้เยียวยาประชาชาติ ....บันทึกเล่มนี้บอกเล่าถึงการเดินทางของข้าพเจ้า จากบทบาทของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อการปลดแอกแห่งแอฟริกาใต้ มาสู่การเป็นผู้เยียวยาบาดแผลที่มีภารกิจทั่วโลก" ด้วยเหตุที่..ทั่วโลกหากที่ใดมีความรุนแรง ความยากจน และการกดขี่ การเดินทางของแอฟริกาใต้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่มนุษย์ผู้บาดเจ็บ/ที่ยังคงก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณต่อไป/..ในช่วงเวลาที่มืดหม่นของเรา พลังความดีได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า...แข็งแกร่งกว่าพลังความชั่วร้าย การเหยียดผิวต้องพ่ายแพ้ และความยุติธรรมต้องเป็นฝ่ายชนะ/เช่นเดียวกับการที่ผู้คนซึมซับเอาความกล้าหาญจากเรื่องราวของตัวบาทหลวงไมเคิลเอง “ระเบิดไม่สามารถสังหารข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตรอด พร้อมกับลิ้นที่เป็นอาวุธเพียงอย่างเดียวในการต่อสู้กับการเหยียดผิว ความบอบช้ำที่เห็นได้ในร่างกายข้าพเจ้าได้สร้างสายใยกับผู้อื่น ผู้ซึ่งร่างกายมักปรากฏความบอบช้ำน้อยกว่าข้าพเจ้า แต่นั่นคือความจริง ความจริงที่ว่าความเจ็บปวดทำให้มนุษย์รวมตัวกันเป็นเอกภาพ ในการทำงานเป็นผู้เยียวยา/ผู้คนมากมายพูดว่า พวกเขาไว้ใจข้าพเจ้าได้เพราะข้าพเจ้ารู้จักความเจ็บปวด/...แต่ท้ายที่สุดแล้วสาระสำคัญที่สุดก็คือ...เราสามารถแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังการให้ชีวิตได้หรือไม่/...กล่าวได้ว่านั่นคือการเดินทางที่ต้องอาศัยก้าวย่างอย่างยาวไกล ในการทำงานเพื่อเยียวยาความทรงจำ/และเราได้เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เริ่มต้น....................” ปรัชญาในการทำงานเพื่อการเยียวยาของบาทหลวงไมเคิลและหมู่พวก ก็คือ...การแสวงหาคำตอบต่อคำถามชุมชนในท่ามกลางแสงเรืองรองแห่งศรัทธา เราจะเข้าใจว่าศาสนศาสตร์คือสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจที่ต้องเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งนั่นคือวิถีแห่งพระเยซู/บ่อยครั้งที่คำสอนของพระองค์ถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่ผู้คนนำมาสู่พระองค์/พระองค์ไม่ทรงนำบทเทศน์ไปถึงพวกเขา/ดังนั้น.สิ่งที่ชาวคริสต์ควรตอบสนองคืออะไร?/มีอยู่บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถหาเส้นทางที่แจ่มชัดได้เลย/ “บทบาทของข้าพเจ้าเพียงช่วยผู้นำคริสตจักรให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า..ความหมายคืออะไร /ในการเดินทางตามตัวอย่างของพระเยซูในโลกแห่งความท้าทายที่เราทุกคนต่างใช้ชีวิตอยู่/เราได้จัดสถานที่ปลอดภัย ที่ผู้คนจะสามารถคิดได้อย่างพินิจพิเคราะห์ ได้พูดอย่างเสรี และได้รับมือกับความสิ้นหวัง/รวมทั้งการแสวงหาความหวังในเวลาเดียวกัน/บ่อยครั้งที่การพูดคุยของเราเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และบางครั้งก็ร้อนแรง หรือเต็มไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิธีที่อำนาจถูกนำมาใช้ทั้งโดยฝ่ายรัฐบาลและคริสตจักร.../...เราสนับสนุนให้แต่ละคนอุทิศตน และเราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เพื่อไว้ใจกระบวนการ /ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราทุกคนได้อุทิศตนพอประมาณในการช่วยผู้นำคริสตจักรรับมือกับปัญหารุนแรงต่างๆ” บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์/เกิดที่นิวซีแลนด์ และบวชเป็นบาทหลวงที่ออสเตรเลีย ท่านเดินทางไปแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้เผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ เมื่อปี1973 และเริ่มเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการต่อต้านการเหยียดผิว และเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอเอ็นซี หลังเผชิญกับความพยายามลอบสังหาร/...ท่านก่อตั้งสถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำในปี1998 เพื่อทำงานร่วมกับเหยื่อของความรุนแรง ผู้มีบาดแผลทางใจในทั่วโลก/...ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ร่วมกับ “สตีเฟน คาราคาเซียน” /ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดชาวอเมริกัน ผู้ทำงานร่วมกับ บาทหลวงไมเคิลมานานปี หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นแรงกระตุ้นให้ใครก็ตาม ผู้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความแตกสลาย และความเป็นปฏิปักษ์ เป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะแห่งจิตวิญญาณมนุษย์ และ จะเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านเผชิญหน้ากับอุปสรรคใดๆก็ตาม ด้วยหัวใจ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญและการให้อภัย/. .. “เยียวยาอดีต” ได้กลายเป็นหนังสือ ที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากทั่วโลก พร้อมคำนิยมจากอัครมุขนายกกิตติคุณ “เดสมอนด์ ตูตู” และการรับรองจากบุคคลสำคัญผู้มีชื่อเสียงมากมาย.. “นับจากถูกระเบิดคราวนั้น...บาทหลวงไมเคิลกลายเป็นผู้อุทิศตนอย่างสูงสุด ทุ่มเทให้กับการเยียวยา และการสร้างความปรองดองในแอฟริกาใต้ รวมทั้งในภูมิภาคอื่นทั่วโลกที่ได้รับความเสียหายจากความขัดแย้ง/เขาได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของโลกอย่างแท้จริง และข้าพเจ้าได้เฝ้าดูการทำงานของเขาด้วยความรู้สึกดียิ่งและด้วยความชื่นชมที่เพิ่มทวีขึ้นทุกที /แม้ทุพพลภาพทางร่างกาย แต่เขาได้กลายเป็น “คนเต็มคน”มากที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก/เป็นผู้เยียวยาบาดแผลอย่างแท้จริง/บันทึกของเขาจะนำสารของเขาไปถึงผู้คนทั่วโลกมากขึ้น และจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่งานของสถาบัน...อันเป็นพรอันยิ่งใหญ่....” ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงด้วยความรู้สึกอันยิ่งใหญ่..มันคือบันทึกแห่งประสบการณ์อันเนื่องมาด้วยประสบการณ์และความคิดที่ยากจะให้ข้อสรุป/ แต่นี่คือเงื่อนไขแห่งชีวิตที่ถูกยั่วล้ออย่างรุนแรงด้วยชะตากรรม/และความเป็นจริงในวิถีแห่งสัจจะของการดำรงอยู่/ที่ทั้งทุบทำลายและเชิดชูชีวิตอย่างยิ่งใหญ่ระคนกัน./..มันคือภาพร่างอันยิ่งยงและตื่นตระการของชีวิตถึงขนาดที่ “เนลสัน แมนดาลา” อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้...ได้กล่าวถึงว่า... “ชีวิตของไมเคิล แสดงถึงการอุปมาที่ไม่อาจขัดขืนได้...ชาวต่างชาติคนหนึ่งผู้เดินทางมายังประเทศของเรา แล้วถูกเปลี่ยนแปลง ชีวิตของเขาเป็นเหมือนผ้าม่านผืนงามแห่งการเดินทางอันยาวนานแสนมากมาย...และการต่อสู้ของประชาชนของเรา...” “ดรุณี แซ่ลิ่ว” แปลความหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างลุ่มลึกในเจตจำนงและงดงามยิ่ง/ภายใต้การเป็นบรรณาธิการของนักแปลผู้รอบรู้แห่งปัญญาญาณ “อาจารย์ สดใส ขันติ วรพงศ์”/โดยมีท่าน “พระไพศาล วิสาโล” เป็นผู้เขียนคำนำ/การประกอบสร้างโดยรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้นับเป็นความสมบูรณ์ต่อการชี้ให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงว่า..สิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงเลยก็คือแม้แต่ผู้ที่ก่อความรุนแรงแก่เพื่อน มนุษย์ด้วยกัน ก็มีบาดแผลในจิตใจและต้องการการเยียวยาด้วยเช่นกัน “บางครั้งคนมองข้าพเจ้าว่าเป็นรูปเคารพ และถามข้าพเจ้าว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความท้อแท้ คำตอบก็คือ ถ้าข้าพเจ้าเป็นรูปเคารพ ข้าพเจ้าก็มีความเป็นมนุษย์สูงมาก คือเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ และความขัดแย้ง..............................”