ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ ทศวรรษ 1970 เป็นยุคที่ดนตรีมีการแตกแขนงออกไปอย่างมากมาย หลายประเภทได้การยอมรับเป็นประเภทดนตรีหลัก หลังจากที่เริ่มทดลอง เริ่มทำกันในทศวรรษก่อนหน้า และพบจุดลงตัว และทศวรรษ 1970 ก็เป็นห้วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของคันทรี-ร็อกเช่นกัน กลางถึงปลายทศวรรษ 1960 ศิลปินบางรายเริ่มมีการนำสำเนียงและเครื่องมือของดนตรีคันทรี่เข้ามาใช้ เช่น เดอะ เบิร์ดส์, ครีเดนซ์ เคลียร์วอเทอร์ รีไววัล, บั๊ฟฟาโล่ สปริงฟีลด์, บ็อบ ดีแลน และ เดอะ แบนด์ เป็นต้น แต่เป็นตอนที่ แกรม พาร์สัน เข้าไปเป็นสมาชิก เดอะ เบิร์ดส์ วงร็อกดังแห่งแคลิฟอร์เนีย เขานำอิทธิพลของคันทรีเข้าไปเปลี่ยนทิศทางจากแนวไซคีเดลิคที่วงกำลังมุ่งหน้าไป อัลบั้ม Sweetheart of the Rodeo ในปี 1968 ของ เดอะ เบิร์ดส์ ที่มีอิทธิพลของ พาร์สัน ถูกยอมรับว่าเป็นเสาหลักสำคัญของคันทรี-ร็อก ความนิยมคันทรี่-ร็อคในทศวรรษ 1970 ขยายวงกว้างและขึ้นอันดับสูงบนตารางอันดับเพลงด้วยศิลปินสายนี้มากมาย เรียกว่าเป็นดนตรี “ป๊อปปูลาร์” อีกประเภท โดยการนำของวงดนตรี อย่าง ดิ อีเกิ้ลส์, เดอะ ฟลายอิ้ง เบอร์ริโต้ บราเธอร์ส (วงที่ พาร์สัน เป็นผู้ก่อตั้ง), นิทตี้ กริทตี้ เดิร์ท แบนด์, โพโค, ไฟร์ฟอลล์, เพียวร์ แพรี่ ลีก, โอซาร์ค เมาน์ทเท่น แดร์เดวิลส์, อเมซิ่ง ริธึ่ม เอเซส, เดอะ ดิลลาร์ดส์ ฯลฯ นอกจากนี้ ความสำเร็จของคันทรี-ร็อกทำให้ศิลปินในแนวอื่นหรือใกล้เคียงกันอีกมากมาย เข้ามามีส่วนร่วมกับกระแส หรืออีกนัยหนึ่ง คนเหล่านี้ช่วยให้คันทรี่-ร็อคกลายเป็นกระแสใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น เดอะ ดูบี้ บราเธอร์ส, ลิทเทิ่ล ฟีท และ บอนนี่ เรทท์ ที่ผสมคันทรี-ร็อกกับริธึ่มแอนด์บลูส์ ริคกี้ เนลสัน, ดิ เอเวอร์ลี่ บราเธอร์ส, แจ็คสัน บราวน์, วอร์เรน ซีวอน, เจ.ดี. เซาเธอร์ส, ลินดา รอนสตัดท์, แดน ฟอเกลเบิร์ก, ล็อกกิ้นส์ แอนด์ เมสสิน่า, บริวเออร์ แอนด์ ชิปลี่ย์ หรือวงเซาเธิร์น-ร็อกที่มีสัดส่วนของคันทรี-ร็อกอยู่ด้วย อย่าง ดิ ออลล์แมน บราเธอร์ส แบนด์, มาร์แชล ทัคเกอร์ แบนด์, แอ็ทเลนต้า ริธึ่ม เซ็คชั่น, ดิ เอ๊าท์ลอว์ส หรือ ชาร์ลี แดเนี่ยลส์ แบนด์ ศิลปินเหล่านี้ประสบความสำเร็จกับการทำเพลงคันทรี่-ร็อค ส่วนจะมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คนหรือวง แต่กระแสของคันทรี่-ร็อคก็ดูแผ่วลงหลังจากขึ้นทศวรรษ 1980 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวงดนตรีดังในสายคันทรี่-ร็อคหลายวงแยกตัว ศิลปินที่เคยออกผลงานในแนวคันทรี่-ร็อคปรับเปลี่ยนไปทำงานในแนวอื่นบ้าง และที่สำคัญ ผู้ฟังที่เติบโตมาเป็นวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวในทศวรรษ 1970 หยุดการติดตามฟังเพลงใหม่ๆ ลดความสนใจด้านดนตรีลง ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของวัยที่เปลี่ยน ความรับผิดชอบอย่างอื่นมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคันทรี่-ร็อคอย่างเดียว ดนตรีฮาร์ด-ร็อคหรือโปรเกรสซีฟ-ร็อคที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่งในทศวรรษ 1970 ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ตาย เพียงแต่ค่อนข้างจำกัดกลุ่มผู้ฟัง คันทรี-ร็อกยุคใหม่มีวงหรือศิลปินมือดีๆอยู่ไม่น้อย แต่บางทีสมัยนี้เรียกรวมๆว่า “อเมริกานา” เพราะคนเหล่านี้มักไม่ได้ทำดนตรีแบบเดียวในอัลบั้ม มีกลิ่นอายของบลูส์บ้าง หรือกระทั่งการใส่วิธีร้องที่เป็นแร็ปเข้ามาปะปน ทศวรรษ 1990 ยังมีคนที่ทำงานคันทรี-ร็อกอย่างเหนียวแน่น อย่าง จอห์น ฟอเกอร์ตี้, โจ อีไล, บุทช์ แฮนค็อค, จิมมี่ เดล กิลมอร์, สตีฟ เอิร์ล, ไดรฟ์-บาย ทรัคเกอร์ส, ไรอัน อดัมส์ แม้กระทั่งวงอย่าง ดิ๊กซี่ ชิคส์ ก็มีสัดส่วนของคันทรี่-ร็อคในงานของพวกเธอ หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา คันทรี่-ร็อคเหมือนจะมีการฟื้นฟูขึ้นมากด้วยความสำเร็จของศิลปิน อย่าง มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์, คิงส์ อ็อฟ ลีออน, เดอะ ลูมิเนียร์ส, แบรนดี้ คาร์ไลล์, ดิ เอเว็ทท์ บราเธอร์ส และ เจค บั๊กก์ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายวงที่สร้างงานในแบบคันทรี่-ร็อค เช่น เฟิร์สต์ เอด คิดส์, มิดแลนด์, เดอะ มาร์คัส คิง แบนด์, ฟีลด์ รีพอร์ท, แฟรงค์ เทอร์เนอร์, ดอว์ส, เดอะ แวนเดอริ่ง ฮาร์ทส์ ฯลฯ แม้แต่ เลดี้ กาก้า ยังลงมาเล่นกับแนวทางนี้ในอัลบั้ม Joanne เมื่อปี 2016 สำหรับคนที่ถวิลหาอารมณ์แบบคันทรี่-ร็อค ศิลปินเหล่านี้และอีกมากยังคงทำงานของพวกเขาอยู่ และเป็นพวกที่มีพร้อมทั้งฝีมือดนตรีและการเขียนเพลงที่แหลมคม เพียงแต่ว่าในกระแสดนตรีหลักของทุกวันนี้ ถ้าไม่โด่งดังเปรี้ยงปร้างจริงๆอย่าง มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ เราอาจจะไม่รู้ว่ามีพวกเขาอยู่ เพราะไม่ได้ติดตามใกล้ชิดเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ช่องทางในการฟังเพลงอยู่ที่ปลายนิ้วมือ ลองคลิคหาฟังได้...ไม่ยากแล้ว