ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชีวิตนักเรียนประชาบาลไม่ได้รันทดอะไรนัก ย่าจันทร์ซื้อชุดนักเรียนให้ผมไว้ตั้งแต่วันที่ไปรับผมที่สถานีรถไฟ มีกางเกงสีกากีกับเสื้อสีขาวอย่างละ 2 ตัว แต่ไม่มีเข็มขัดและรองเท้า ย่าบอกว่า “ของหมด” แต่เมื่อไปถึงโรงเรียน ผมก็เห็นนักเรียนอีกหลายๆ คนก็แต่งตัวเฉพาะเสื้อกับกางเกงเหมือนกันกับผม แถมยังเก่ากว่าและหลายคนก็ปะชุนเต็มไปหมด ส่วนรองเท้าก็ไม่เห็นมีคนไหนเขาใส่กัน ครูใหญ่บอกว่าหน้าฝนอนุโลมให้ไม่ต้องใส่รองเท้าก็ได้ เพราะดินเฉอะแฉะเดินเหินลำบาก (แต่พอถึงหน้าแล้งก็ไม่เห็นมีใครใส่มา และครูใหญ่ก็ไม่เห็นว่าหรือทำโทษอะไร) โรงเรียนบ้านหนองม่วงอยู่ด้านซ้ายของหนองน้ำใหญ่ “ศูนย์กลางของหมู่บ้าน” ที่ชื่อหนองม่วงนั้นเอง อาณาบริเวณของโรงเรียนมีเนื้อที่กว้างขวางหลายสิบไร่ สังเกตได้จากมีชาวบ้านเอาวัวควายมากินหญ้าแบบ “ปล่อยทุ่ง” อยู่หลายสิบตัว แต่อาคารโรงเรียนนั้นมีเพียงหลังเดียว เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงสัก 1 เมตร เสาปูน ฝาและพื้นเป็นไม้กระดาน หลังคาสังกระสี และมีบันไดขึ้นลงตรงกลางเพียงจุดเดียว ห้องตรงหน้าบันไดคือ “ห้องสำนักงาน” มีโต๊ะครูใหญ่อยู่ด้านในสุด โดยมีโต๊ะเล็กๆ อีก 5-6 ตัว วางรายเรียงไปตามฝาผนังห้องทั้งสองด้าน เป็นโต๊ะทำงานของบรรดา “ครูน้อย” ซึ่งตอนที่ผมไปเรียนมีอยู่ 3 คน รวมกับครูใหญ่ก็เป็น 4 คน แต่ละคนก็รับผิดชอบเป็นครูประจำชั้นของแต่ละชั้นที่มีสอนถึงประถม 4 ด้านซ้ายและขวามีห้องเรียนออกไปด้านละ 2 ห้อง เรียงจากซ้ายสุดไปถึงขวาสุดก็คือชั้นประถม 1 2 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ละห้องมีโต๊ะเก้าอี้ประมาณ 15 ชุด พอๆ กันกับจำนวนนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนนั้น ผมเข้าเรียนในชั้นประถม 1 ยังใช้กระดานชนวนและดินสอหินที่โรงเรียนแจกให้ มีหนังสือเรียน 4-5 เล่มวางไว้เป็น “ส่วนกลาง” ตามจำนวนที่เรียนในแต่ละสัปดาห์ วิชาละ 2-3 ชั่วโมง ทุกเช้าหลังเคารพธงชาติแล้วก็จะสวดมนต์และร้องทำนองสรภัญญะสรรเสริญพระรัตนตรัย ตอนบ่ายก่อนเลิกเรียนก็จะท่องสูตรคูณและอาขยานด้วยเสียงอันดังทุกห้อง วิชาที่นักเรียนชอบมากคือวิชาการฝีมือ คุณครูจะสอนให้ทำ “ของแปลกๆ” ในชั้นประถม 1 ก็จะเป็นการปั้นดินเหนียวเป็นสัตว์ต่างๆ ประถม 2 กับประถม 3 ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสอนให้ทำงานศิลปะต่างๆ จนถึงชั้นประถม 4 ก็เป็นการทำอาหาร ผมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งคุณครูสอนให้ทำแกงเขียวหวาน ที่เป็นอาหาร “คนเมืองกรุง” ให้นักเรียนหาสิ่งของแต่ละอย่างมาจากบ้าน แต่ของที่หายากที่สุดคือใบโหระพา เพราะคนอีสานสมัยนั้นยังไม่นิยมรับประทาน จึงยังไม่ปลูกไว้เป็นพืชสวนครัวติดบ้าน ครูลองใช้ใบแมงลักใส่แทน แต่พอลองรับประทานก็”พออาศัย” จำได้ไม่รู้ลืม ย่าจันทร์เป็นคนทำกับข้าวอร่อย ลูกสาวของย่าทั้งสามคนก็ได้ฝีมือในเรื่องนี้ไปด้วย อาหารประจำบ้านและประจำมื้อของชาวอีสานในยุคนั้นก็คือ “แจ่วบอง” และ “ป่น” แจ่วบองนั้นคือปลาร้าสับหรือโขลกละเอียดใส่พริกแห้งกับใบมะกรูดหั่นฝอย ทานกับผักต่างๆ จะทานสดๆหรือต้มให้สุกก็ได้ ส่วนป่นคือปลาสดต้มกับน้ำปลาร้า ส่วนใหญ่จะใช้ปลาช่อนและปลาดุก ต้มให้เปื่อยแล้วแกะเอาแต่เนื้อมาโขลกกับพริกชี้ฟ้าเผา หัวหอมเผา และกระเทียมเผา เติมน้ำปลาร้าที่ต้มปลานั้น แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาอีกนิด แต่ที่ขาดไม่ได้คือ “ผงชูรส” ที่ทุกบ้านต้องใช้อย่างกับว่าเป็น “ยาเสพติด” ป่นนี้ก็ทานกับผักสดหรือผักต้มก็ได้เช่นกัน อาหารการกินของคนอีสานในสมัยก่อนต้องบอกว่า “ตามมีตามเกิด” จริงๆ แต่คนอีสานก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน ตอนที่ผมไปอยู่บ้านหนองม่วงโชคดีที่เป็นฤดูฝน ปูปลากบเขียดค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ ปู่เป็นคนหาของสดพวกนี้มาให้ย่าทำอาหาร บางวันได้มามากก็เอาใส่เกลือตากแห้งไว้กินวันหลัง ปลานั้นถ้าจับได้มากๆ ไม่ทันกินก็จะเอาคลุกเกลือและรำข้าวทำเป็นปลาร้าปลาจ่อมไว้เต็มไห สัก 3-4 เดือนก็ “จก” ออกมาทำอาหารได้ แต่พอเข้าหน้าแล้งไม่มีปลาให้จับ ก็ต้องไปขุดหาหอยตามโคนต้นไม้ในนา หรือขุดหากบตามรูข้างคันนา ถ้าแล้งหนักเข้าก็ต้องไปจับกิ้งก่า ขุดหาแย้ แหย่ไข่มดแดง เขย่าต้นไม้หาแมงอีนูน จนถึงขุดมูลควายหาแมงกุดจี่ เอามาทำอาหารกันเป็นปกติ คือไม่ได้รับประทานเพราะว่าขาดแคลน แต่ทานตามสภาพหรือตามฤดูกาลนั่นเอง ย่าจันทร์คงจะนึกว่าผมเป็น “เด็กกรุงเทพฯ” เพราะชอบทำอาหารที่ไม่ใช่อาหารอีสานให้ผมทานเป็นประจำ ที่ทานบ่อยๆ ประมาณเดือนละครั้งก็คือ “ไข่เจียว” แต่น่าจะเรียกว่า “ไข่เจียวก้นกระทะ” มากกว่า เพราะมักจะมีกลิ่นหอมของไข่ที่ไหม้นิดๆ เนื่องจากน้ำมันหมูหายาก คนแถวนั้นไม่ค่อยมีหมูกิน นอกจากจะมีงานบุญใหญ่ๆ แต่ก็ไม่เสมอไป พอได้มันหมูมาย่าก็จะเอาไปเจียวทำน้ำมันใส่ขวดแบนของสุรายี่ห้อดังไว้ เก็บใช้ผัดไว้ทอดตลอดปีหรือจนกว่าจะมีมันหมูมาเจียวเก็บไว้อีกครั้ง เวลาจะเจียวไข่ก็ “หยด” ลงบนกระทะ เอาตะหลิวไล้ๆ พอเลื่อมๆ เอาไข่หนึ่งใบที่เหยาะน้ำปลานิดหน่อย กวนๆ ด้วยช้อนสังกระสี ลงไป “จี่” กับน้ำมันที่เคลือบก้นกระทะนั่น พลิกสักสองทีก็เอาใส่จานให้ผมทาน “เพียงคนเดียว” โดยเอาข้าวเหนียวร้อนๆ “จ้ำ” อย่างเอร็ดอร่อย (อย่างสำนวนของหม่อมถนัดศรีที่ชอบพูดว่า “เอาสเต๊กมาแลกก็ไม่ยอม”) อาหารที่ย่าทำให้ผมรับประทานแล้วต้อง “สะอื้น” ทุกครั้งที่นึกถึงก็คือ “ผัดผักบุ้ง” ที่คนกรุงอาจจะมองว่าไม่เห็นจะแปลกอะไร แต่ถ้าท่านลองนึกภาพตามไปด้วยแล้วจะเห็นว่ามันเป็น “อาหารมหัศจรรย์” คนอีสานไม่นิยมรับประทานผัดผักบุ้ง ถ้าจะทานก็คือเอามาทำเป็นผักแนมกับส้มตำหรือแจ่วและป่นที่คนอีสานทานอยู่ประจำนั้น อนึ่งผักบุ้งจะมีอุดมสมบูรณ์ก็แต่ในหน้าฝนเท่านั้น พอหน้าแล้งก็แห้งตายจมดินไปกับความแห้งแล้งนั้นจนหมด แต่ถ้ามีความชื้นก็อาจจะแตกยอดเล็กๆ แพลมๆ ออกมาให้เห็นได้บ้าง ซึ่งย่าจันทร์จะไปเฝ้าเก็บยอดอ่อนเหล่านี้ บางวันได้มาเพียงฝามือนิดๆ ก็จะเอามา “ลูบๆ” กับน้ำมันก้นกระทะ แล้วใส่น้ำปลาพอปะแล่มๆ แล้ว “แอบ” เอามาให้ผมรับประทานเพียงคนเดียว ที่ผมสะอื้นเพราะวันหนึ่งผมตามย่าไปที่นาในหน้าแล้ง แล้วเห็นย่าก้มๆ เงยๆ คุ้ยดินก้อนนั้นก้อนนี้ ไปตลอดบ่ายด้วยใบหน้าและผิวเนื้อคล้ำเกรียม เพียงเพื่อจะให้ได้ยอดผักบุ้งเพียง 1 กำมือ!