สัปดาห์พระเครื่อง/ ราม วัชรประดิษฐ์
เมืองลพบุรีถือได้ว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งของสยามประเทศ เป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากมาย ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมในแวดวงนักนิยมสะสม โดยเฉพาะที่ ‘กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ’ วัดเก่าแก่ประจำจังหวัดซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองนับเป็นแหล่งกำเนิดพระกรุอันดับหนึ่ง ซึ่งมากมายหลายพิมพ์ อาทิ พระร่วงหลังลายผ้า พระหูยาน พระนาคปรก พระยอดขุนพล ฯลฯ ยังไม่นับกรุพระอื่นๆที่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปสาเหตุประการหนึ่งเนื่องมาจากลพบุรีหรือละโว้เคยได้รับอิทธิพลจากขอมสมัยเมืองพระนคร หลักฐานที่ชัดเจนก็คือพระปรางค์แขก พระปรางค์สามยอด ตลอดจนศาลพระกาฬ อันเป็นที่ประดิษฐาน ‘รูปพระนารายณ์’ ที่ได้รับความเคารพนับถือ และมีชื่อว่าองค์เจ้าพ่อพระกาฬมาจนทุกวันนี้ และมีคำพูดที่กล่าวกันต่อๆ มาว่า "ที่เมืองละโว้ถ้าเป็นพระพิมพ์ยืนต้องยกให้พระร่วงหลังลายผ้า แต่ถ้าพระพิมพ์นั่งล่ะก็ต้องเป็นพระหูยาน" ทั้ง "พระร่วงหลังลายผ้าและพระหูยาน" นี้ ยังเป็นพระเครื่องที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "พระยอดขุนพล" ระดับประเทศอีกด้วย วันนี้เราก็มาคุยกันเรื่อง"พระร่วงหลังลายผ้า"ก่อนแล้วกันครับผม
พระร่วงหลังลายผ้า แตกกรุออกมาครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2430 นับเนื่องก็ราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่พระปรางค์องค์ใหญ่หรือปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งชาวลพบุรีเรียกวัดพระธาตุ ต่อมามีการแตกกรุอีก 2 ครั้ง คือ ปี พ.ศ.2455 และ ปี พ.ศ.2458 ในบริเวณใกล้เคียงกันพบพระจำนวนหนึ่งขึ้นปะปนกันหลายประเภท ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2515 ได้มีการขุดค้นพบอีกครั้งที่บริเวณโรงเรียนช่างกลละโว้ ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน ได้พบพระร่วงหลังลายผ้าประมาณ 200 องค์ รวมทั้งพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ พระร่วงหลังลายผ้าที่พบนั้นเป็นพระพิมพ์เดียวกับของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุทุกประการ ผิดกันที่สนิมขององค์พระจะมีสีแดงเข้ม กว่าและขนาดบางกว่า เข้าใจว่าจะเป็นพระที่สร้างใน คราวเดียวกันแต่แยกบรรจุคนละที่เลยเรียกว่าพระร่วงกรุช่างกล
เมื่อพิจารณาจากความเก่าของเนื้อองค์พระและพุทธศิลปะ "พระร่วงหลังลายผ้า" น่าจะมีอายุอยู่ในราว 800 ปี ซึ่งในสมัยนั้น เป็นสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ และขยายอาณาเขตเข้ามาปกครองเมืองละโว้ หรือลพบุรีด้วย ทำให้จึงน่าจะสันนิษฐานประการที่ 1 ได้ว่าเป็นพระเครื่องที่สร้างโดยพวกขอม นอกจากนี้ พุทธศิลปะขององค์พระแลดูสง่างามและอลังการอย่างมาก ไม่น่าจะเป็นการสร้างของสามัญชนธรรมดา จึงสันนิษฐานเป็นประการที่ 2 ว่า น่าจะเป็นกษัตริย์เจ้าผู้ครองแคว้นเป็นผู้สร้าง เพราะพระประเภทนี้จะเป็นลักษณะของ "สมมุติเทพ" คือเป็นพระทรงเครื่องเยี่ยงกษัตริยาธิราช
พระเครื่องที่ขุดค้นพบของจังหวัดลพบุรี โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระเนื้อชิน ที่เป็นเนื้อดินและเนื้อ สัมฤทธิ์นั้นมีน้อยมาก "พระร่วงหลังลายผ้า" ที่ขุด ค้นพบก็เช่นกัน จะมีเพียง 2 เนื้อ คือ เนื้อชินเงินและตะกั่วสนิมแดง พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร พุทธศิลปะแบบศิลปะเขมรยุคบายน แบ่งแยกพิมพ์ได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า "พิมพ์นิยม" และพิมพ์เล็ก ส่วนพิมพ์ด้านหลัง เป็นหลังลายผ้า ซึ่งคงจะเป็นผ้ากระสอบที่ใช้ปิดลงบนหลังแม่พิมพ์ เมื่อเทโลหะแล้วทำการกดเล็กน้อยเพื่อให้ด้านหน้าเต็มพิมพ์ จึงนำมาขนานนามองค์พระ
"พระร่วงหลังลายผ้า" นี้ นอกจากจะมีความงดงามเป็นเลิศแล้วยัง มีพุทธคุณเป็นเลิศครบครัน ทั้งด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และโชคลาภ ซึ่งมีประสบการณ์ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ เรียกได้ว่าพอๆ กับ "พระร่วงหลังรางปืน" ซึ่งด้านหลังเป็นร่องคล้ายรางปืนขึ้นที่สวรรคโลก ทีเดียว อีกทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญ อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของช่างขอมจากสวรรคโลก สุโขทัย มาสู่เมืองละโว้ และเกี่ยวพันกับลัทธิเทวราชากับพุทธแบบมหายาน ที่แพร่หลายเข้ามาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้เป็นที่แสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องและพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดยอดขุนพลด้วย
ยิ่งในปัจจุบันได้ถูกบรรจุในชุดยอดขุนพลที่หายากที่สุดพิมพ์หนึ่ง จึงทำให้สนนราคาค่อนข้างจะสูงมากๆ หากผู้ใดมี "พระร่วงหลังลายผ้า" ไว้ในครอบครอง ก็เหมือนกับมี "พระร่วงหลังรางปืน" เช่นเดียวกัน
วิธีการพิจารณาพระร่วงยืนหลังลายผ้าตะกั่วสนิมแดง กรุวัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรีเบื้องต้น นั้น ให้ดูหลังพระบาทซ้ายจะอูมนูนกว่าหลังพระบาทขวาเล็กหน่อย (เช่นเดียวกับหลังรางปืนสวรรคโลก) ‘สนิมแดง’ จะแตกระเบิดจากภายในออกสู่ภายนอก ไม่ใช่จากภายนอกเข้าไปภายใน หากเป็นประการหลัง เกิดจากใช้น้ำกรดกัด นอกจากนี้ ให้ใช้มือลูบตามขอบดูพระแท้ต้องไม่คมกินมือ และลายผ้านั้นเป็นผ้ากระสอบค่อนข้างใหญ่ ไม่ใช่ลายจุดเล็กๆ ละเอียดๆ ครับผม