บทความพิเศษ / ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สถานการณ์ฝุ่นพิษ องค์การอนามัยโลกหรือ “WHO” กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในอากาศต่อปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และต่อวันอยู่ที่ระดับไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ ลบ.ม. เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (Particulate Matters) เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เผาหญ้า, ไฟป่า, ควันจากไอเสียรถยนต์, ควันจากอุตสาหกรรม ฝุ่นพวกนี้ลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศได้เป็นเดือน สามารถเคลื่อนไปตามกระแสลมได้เกือบพันกิโลเมตร ฝุ่นที่เป็นพิษถึงขั้นเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อร่างกายต้องเกิน 50 ไมโครกรัม /ลบ.ม. ในกทม.ช่วงต้นมกราคมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 83 – 85 ไมโครกรัมทำให้ถูกยกระดับติดอยู่ในแชมป์อันดับ 8 ของโลกตัวเลขพวกนี้ขึ้นลงตามช่วงที่มีฝุ่นมากหรือน้อยบางครั้งก็ติดอันดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองต่อปีที่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐาน ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ (1) การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และ (2) การเผาพืชตามไร่นา เฉลี่ยเกิดจากการจราจร 72 % เผาวัชพืช 15 % อุตสาหกรรม 5 % และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ค่ามาตรฐานเฉลี่ยสูงสุดที่เกินยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมค่าควันพิษจึงสูง อีกทั้งหลายจังหวัดซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาจากปัจจัยจราจรหรืออุตสาหกรรม เช่น จันทบุรีบางช่วงค่า PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานถึง 1.7 เท่า ขณะที่จังหวัดตราด, เชียงราย ตาก, แพร่, น่าน แม้แต่บนดอย เช่น อำเภออุ้มผาง มีแต่ป่าและเขาแต่ ค่าควันพิษก็ยังสูงเกินมาตรฐาน มาตรฐานค่าวัดฝุ่นต้องไม่มีค่า AQI เกินกว่า 100 แต่ปรากฏว่าของไทย โดยเฉพาะ กทม. และเชียงใหม่ สูงมากกว่า 150 AQI อย่างไรก็ตามค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ที่กำหนดไทยแตกต่างจากมาตรฐานข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไทยกำหนดที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ควันจากเผาไร่ไฟป่าไอเสียรถยนต์ซ้ำซากจำเจ นับเป็นปัญหาของประเทศมาอย่างน้อย 3 ปีแล้วที่คนไทยวันนี้รู้จักฝุ่นละออง PM 2.5 ไร่ถูกเผา ไฟไหม้ป่า ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ดูว่าจะเป็นเรื่องซ้ำซาก จำเจ ค้างคามาหลายยุคหลายสมัย แต่อย่างหนึ่งที่ไม่มีใครกล่าวถึง คือความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจากการเผา โดยเฉพาะการเผาไร่ เผาตอซังข้าวในนา เกษตรกรรมเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำไมชาวนาต้องเผาฟางก่อนไถนา ทั้งๆที่มันเป็นปุ๋ย มีเสียงบ่นจากบ้านนอกมาว่า ควัน ฝุ่น เกิดจากคนเผาใบอ้อยแทบจะทั้งสิ้น ก่อนตัดก็เผาป่าอ้อย หรือพอตัดเสร็จ ก็เผาใบอ้อย เมื่อเผาเสร็จหรือไฟลามก็แจ้ง อบต.เทศบาลมาดับไฟ เหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าที่ไหน ทางอีสาน ที่ปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศจาก 12 ล้านไร่ หรือแถบชายแดนแม่สอด แม่ระมาด จังหวัดตาก ก็เผาหมด คนเผาช่างไม่สงสารคนดับที่ทำงาน อปท.กันบ้างเลย เพราะเผาแล้วเผาเลย ไม่คอยควบคุมให้ลุกลาม พอลามก็เดือดร้อนคนดับ อันตรายมาก ควันพิษด้วย เผากันทั้งวันทั้งคืน ยิ่งเผาหนักในช่วงเดือนธันวาคม – พฤษภาคม ของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยที่มีระยะเวลาในการเปิดหีบ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง ตัวเลขของการเผาในภาคการเกษตรอยู่ที่ราว 20 % โดยแบ่งเป็นการเผา 3 อย่าง ได้แก่ การเผาตอซังข้าว-ข้าวโพด ใบอ้อยและวัชพืช เป็นวิถีชีวิตปกติที่เคยเผามาทุกปี เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่า “เขาเผาเป็นเรื่องปกติเพราะเขาจน” หรือด้วยความเชื่อมาช้านานว่าเพื่อ ฆ่าหนอนกอข้าว ไล่ฆ่าหนูกัดข้าวต้องเผาให้โล่ง เผาป่าได้เห็ด ดอกกระเจียว แต่เป็นทำลายฮิวมัสหน้าดินเสียหาย ชาวเขาก็เช่นกันการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย แม้จะหมุนเวียนสามแปลงเพาะปลูกพืชไร่แปลงละปี อีกสองแปลงมีระยะเวลาฟื้นฟูก็ไม่ดี ปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาป่า เผานา เผาไร่ เผาหญ้า เผาขยะเป็นปัญหาในชนบทมาช้านาน เพราะกว่า 80 % ของคนไทยมีอาชีพเกษตรกรรม มาพักหลังเจอปัญหาฝุ่นควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และ ควันดำรถยนต์อีก ที่ยังไม่รวมฝุ่นจากการก่อสร้างหรือการประกอบกิจการโรงงานต่าง ๆ อีกมากมาย ประกอบกับสถานการณ์โลกที่มีการเผาป่า เผาขยะมากมาย ทำให้เกิดควันพิษข้ามระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 หรือ PM 10 ที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ยิ่งช่วงนี้ ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Novel Coronavirus) สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นสายพันธุ์เดียวกับโรคหวัดนก-ซาร์ส โรคเมอร์ส ที่ระบาดเมื่อสิบปีก่อน ซ้ำกระหน่ำมาอีก เป็นสองเด้ง ตกลงในในเขตเมืองก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยกันเป็นแถวด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0624/ว 7552 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 สั่งการทุกจังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เข้มงวด บังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติฯแก้ไขฝุ่นละอองให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว และแผนเผชิญเหตุช่วงวิกฤติตามระดับความรุนแรง เน้นมาตรการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด เพราะ มีปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ในหลายพื้นที่ เป็นที่น่ายินดียิ่งที่จะมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ ลงวันที่ 24 มกราคม 2563 บทบัญญัติโทษเผาหญ้า-ขยะติดคุก-ปรับ ชาวบ้านไม่ทราบว่าการเผาหญ้า เผาขยะ เผาป่า และเผาสิ่งไม่พึงประสงค์ ที่ตนเองกระทำมาช้านานผิดกฎหมาย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนี้ (1) การเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่อาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น เพียงแต่ก่อให้เกิด กลิ่น แสง สี เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แก่ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงที่เรียก “เหตุรำคาญ” การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 25, 26, 28, 28/1, 74) (2) แต่หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่ “น่าจะ” เป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่นนี้เจ้าของที่ดินผู้เผาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้โดยที่ไม่ต้องเกิดเพลิงไหม้หรือความเสียหายขึ้นจริงๆเลย เพียงแต่น่าจะเกิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 220 แล้ว หากเกิดอันตรายขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นจริงๆ ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 218 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณีซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตยกเว้นหากทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้หรืออาจจะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีราคาเล็กน้อย ผู้กระทำก็จะได้รับโทษเบาลงตามมาตรา 223 (3) หากลักษณะการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า ลักษณะการจุดไฟเผาของตนอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน เช่น จุดไฟในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านหรือทรัพย์สินของคนอื่นอย่างมาก ในช่วงที่ลมแรง เช่นนี้ ผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217-218 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึงประหารชีวิต (4) ไฟไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย กรณีเผาป่าหรือเผาสิ่งใดใกล้บ้านเรือนคนอื่น หรือในชุมชนก็ต้องระวัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ผู้ใดทำให้ไฟไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตคนอื่น ต้องระวางโทษคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การควบคุมมลพิษจากควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา กรณีเหตุรำคาญตามกฎหมายการสาธารณสุขการเผาในที่โล่งการเผาหญ้าเผาวัชพืชเผานาเผาไร่เผาขยะฯ ตามบันทึกการตอบข้อหารือศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข เรื่อง การขอหารือเกี่ยวกับการตราเทศบัญญัติ เรื่องเสร็จที่ 34/2560 ท้องถิ่นต้องมีประกาศรณรงค์ขอความร่วมมือห้ามเผา เนื่องจาก อปท. จะไม่มีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมมลพิษจากควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา มีกรณีตัวอย่างศึกษา (1) ประกาศจังหวัด (กอ.ปภ.จว.) เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิดและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม 90 วัน ห้ามการเผาทุกชนิด (ระบุห้วงเวลา) ใช้ฐานอำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่มีสาระสำคัญห้ามเผาสิ่งต่าง ๆ ในที่โล่งในห้วงระยะเวลาที่ (2) ประกาศ อบต./เทศบาล เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (3) ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (4) ประกาศ อปท. ห้ามเผาขยะวัชพืชในพื้นที่โล่ง ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (5) ประกาศประชาสัมพันธ์ อปท. ขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร ห้ามเผาป่า วัชพืช ไร่นา ไร่อ้อย พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรไทย ร่วมใจหยุดเผาในไร่นา หยุดเผาพร้อมกัน ในห้วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563 “ไม่จุดไฟ ไม่เผาป่า” ลดปัญหาหมอกควัน เป็นต้น ข้อดีข้อเสียของการหยุดเผา ได้ประโยชน์ไถกลบตอซัง ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน หรือ นำตอซังมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มีรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ด เป็นต้น กรณีของไฟป่านั้นนักวิชาการเห็นว่า ไฟป่ามีประโยชน์ ถ้าใช้อย่างเหมาะสม เพราะเป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่มิใช่การเผาโดยฝีมือมนุษย์หรือไฟไหม้จากธรรมชาติที่รุนแรง จนทำให้เกิดความสูญเสียทางระบบนิเวศ ข้อเสีย เพราะ ผิดกฎหมาย ดินเสื่อมโทรม เกิดฝุ่นละออง หมอกควันและก๊าซพิษ ทำลายสุขภาพ เป็นอันตรายต่อชีวิต กระทบการท่องเที่ยว สรุปผลเสียคือ (1) อินทรียวัตถุ จากพืช ตอซัง ใบพืช และส่วนต่างๆ ที่เป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารพืชที่ใช้ในการบำรุงดิน (2) น้ำบนผิวดิน ที่ระเหยออกไปเมื่อได้รับความร้อนจากการเผาไร่ นา ทำให้หน้าดินแห้ง หญ้าที่ปกคลุมและป้องกันการสูญเสียน้ำก็ถูกเผาทำลายไปด้วย (3) ที่สุดคือสูญเสียจุลินทรีย์ดิน ที่ต้องใช้ในการทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพปุ๋ยที่ใส่ลงให้กับพืช ให้ไปอยู่ในสภาพที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ ทางเลือกการแก้ไขปัญหาการเผาไร่เผานาฯ (1) ตั้งโรงไฟฟ้าขยะเป็นต้นแบบในการกำจัดขยะแบบครบวงจร เช่นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2) การเลี้ยงปลวก ลดการเผาใบไม้ พลิกบทบาทปลวก สร้างรายได้ (3) การไถกลบตอซัง ไถปรับหน้าดินพลิกตอซัง สร้างดินยั่งยืนฟื้นสิ่งแวดล้อม (4) การลดปริมาณขยะให้น้อยลง และทั้งยังลดปัญหามลพิษและช่วยลดสภาวะโลกร้อนเรียกว่า ซีโร่ เวสท์ (Zero Waste) (5) สร้างมูลค่าประโยชน์สิ่งเหลือจาก ‘อ้อย’ ตั้งแต่รากจรดใบ เป็นไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากกากโมลาส ไขอ้อยทำเครื่องสำอาง น้ำตาลดิบทำถุงพลาสติกย่อยสลายเองได้ (5) เกษตรอินทรีย์ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างการรับรู้สู่ชุมชนเกษตรกรหยุดเผา เริ่มทำ “น้ำหมักย่อยสลายตอซัง” ชื่อโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (6) สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้ “ใบอ้อย” เป็นเชื้อเพลิง เริ่มนำร่องแล้วโดย “กลุ่มมิตรผล” หวังแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาลจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลภายในปี 2565 (7) กำแพงเพชรโมเดล ลดปริมาณการเผาโดยเก็บใบอ้อยมาอัดแท่งขายเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล (8) ลดปัญหาฝุ่นละอองโดยใช้มาตรการรณรงค์สมัครใจ เพราะมีปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ (9) โซลาร์เซลล์ ผ่านช่องทางกรมอนุรักษ์พลังงานโครงการโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “ลดก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องเพื่อเข้าสู่ระบบ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) เป็น Carbon Footprint ถือได้ว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ