21 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 15.00 น. คือวัน ว. เวลา น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 191ล้านบาท ว่าที่สุดแล้วผลจะออกมาว่า “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” โดยเฉพาะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเป็น “โทษ”ต่อพรรคอนาคตใหม่นั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย ยุ่งยากในทางการเมืองตามมา ประหนึ่งว่า เมื่อโดมิโน ตัวแรกล้มลง แรงตกกระทบต่อกลายเป็นแรงเหวี่ยงต่อไปยังโดมิโน่ตัวต่อไป ตามมาทันที ! พรรคอนาคตใหม่ ถูกจับตาและคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ว่า พรรคอาจจะต้องถูกยุบด้วยคดีความที่มีข้อกล่าวหาหนักหนาสาหัส อย่างกรณีที่เคยถูกร้องว่า พรรคมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง โดยว่ากันว่า กว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”หัวหน้าพรรค , “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือไม่นั้นปรากฎว่า “คำพิพากษา”และการคาดการณ์จากสังคม ได้กระหน่ำอย่างหนัก แต่แล้วทั้งธนาธร -ปิยบุตรและกรรมการบริหารพรรคก็สามารถรอดมาได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมาว่า การกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ จึงมีมติให้ยกคำร้อง ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ได้ “ไปต่อ” จนมาถึงวันนี้ สำหรับคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจำนวน 191 ล้านบาทจาก หัวหน้าพรรคที่ชื่อ ธนาธร กลับดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักมากพอในการสร้างแรงกดดัน ให้ตั้งแต่ “หัวขบวน” อย่าง ธนาธร ในฐานะ “ผู้ให้กู้” ไปจนถึงบรรดาสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ว่าที่สุดแล้ว อนาคตใหม่ จะรอดพ้นจากคดีดังกล่าว ได้หรือไม่ และจากความกังวลใจที่ว่านี้ ทำให้ปิยบุตร ออกมายอมรับว่าได้มีการตั้งพรรคใหม่เพื่อเตรียมรองรับส.ส.และสมาชิกพรรคทั่วประเทศเอาไว้แล้ว หากสถานการณ์ไปถึงขั้นที่จะต้องเสียพรรคอนาคตใหม่กันไปจริงๆ การต่อสู้คดีเงินกู้191 ล้านบาท ของพรรคอนาคตใหม่กินระยะเวลามาตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 23กันยายน 2562 โดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทำหนังสือร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบสัญญาเงินกู้ยืมระหว่างธนาธร กับพรรคอนาคตใหม่ ทั้งสิ้นเป็นเงิน 191 ล้านบาท ว่าจะเข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560หรือไม่ จนมาถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 อย่างไรก็ดีในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร หัวหน้าพรรค นั้นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่าผลจะออกมาเพียง 2ทางเท่านั้น คือ 1.ยุบพรรค และ 2. ไม่ยุบพรรค แต่ดูเหมือนว่าโอกาสที่พรรคอนาคตใหม่จะรอดบ่วงคดี ครั้งนี้เหมือนครั้งที่ผ่านมานั้น คงยากเต็มที ยิ่งเมื่อประเมินจากท่าที และอาการหวั่นไหว ตลอดจน “ตอบโต้” จาก “มือกฎหมายพรรค” อย่างปิยบุตร จะยิ่งพบว่า เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ดุเดือด มากกว่าเมื่อครั้งที่พรรคต้องเผชิญกับคดีล้มล้างการปกครอง เพราะมีโอกาสรอดมากกว่า ยิ่งเมื่อพิจารณาจากคำร้องที่กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้ให้เหตุผลว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กกต.จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 72 ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 92 (3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้ ! อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เองมองว่าโอกาสที่ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาในทางที่ชี้ว่า พรรคมีความผิดจริง เนื่องจากเงินกู้ของพรรคนั้นไม่ชอบตามมาตรา 72 อีกทั้งยังเข้าข่ายการทำ “นิติกรรมอำพราง” แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีความพยายามนำประเด็นเรื่องการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ2550 ที่เปิดโอกาสให้ทำได้ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ตามมาตรา 62 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน มาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ เพื่อป้องกันการ “ครอบงำพรรค” โดยนายทุน คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงตัดในส่วนของ “รายได้อื่นใด” ออก เพื่อไม่ให้พรรคใช้เงินเกินตัว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากชี้ออกมาว่าให้มีการยุบพรรค ตามคำร้องของกกต. แน่นอนว่า “สึนามิ” ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาจากนี้ ย่อมใหญ่หลวงนัก ทั้งต่อแกนนำระดับ “บิ๊กเนม” ของพรรค ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร รวมทั้ง “กรรมการบริหารพรรค” ที่จะต้องถูก “ตัดสิทธิทางการเมือง” ส่วนจะเป็นเวลากี่ปี ก็ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล สำหรับกรรมการบริหารพรรคทั้ง 15 คน ที่จะถูกตัดสิทธิ์ ทางการเมืองโดยอัตโนมัติ จำนวน15คน ประกอบด้วย ปิยบุตร เลขาฯพรรค, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ,ชำนาญ จันทร์เรือง, พล.ท.พงศกร รอดชมภู, พรรณิการ์ วานิช,ไกลก้อง ไวทยการ , เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์,สุรชัย ศรีสารคาม, เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ , จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ , รณวิต หล่อเลิศสุนทร, นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ , สุนทร บุญยอด, ชัน ภักดีศรี ส่วนธนาธร ได้พ้นสถานะส.ส.ไปก่อนหน้านี้แล้วจากคดีถือหุ้นในธุรกิจสื่อ เมื่อไล่เลียงรายชื่อแล้วจะพบว่า กรรมการบริหารที่นั่งเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มีทั้งสิ้น 11 ราย ซึ่งแต่ละคนที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่มีบทบาททางการเมืองที่โดดเด่น ทั้ง ตัวธนาธร, ปิยบุตร, พรรณิการ์ และพล.ท.พงศกร ดังนั้นเมื่อถูกตัดสิทธิ โอกาสที่จะไปโลดแล่นบนสังเวียนอีกครั้ง ร่วมกับพรรคการเมืองใหม่ที่พรรคอนาคตใหม่ เคยประกาศว่าได้ตั้งพรรคเอาไว้รองรับแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่เจอ “กับดัก” เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ได้วางกรอบเอาไว้แล้วว่าห้ามเข้าไปมีส่วนกับพรรคการเมือง วิกฤติของพรรคอนาคตใหม่ ยังจะกลายเป็น ปัญหาให้กับ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ไปโดยปริยาย ยิ่งเมื่อวันนี้ เหลืออยู่เพียง “6พรรค” หลังจากที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เพียงประกาศขอถอนตัวจากการเป็นฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคพา “5 ส.ส.” ของพรรคไปหนุนรัฐบาลแล้ว ยังจะกลายเป็นว่า “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่กำลังจะเปิดคิวในช่วงวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์นี้ จะยิ่งไร้น้ำหนัก ไร้พลัง อย่างเห็นได้ชัด เมื่อมองเกมการเมืองต่อไปอีกช็อตใหญ่ ยิ่งได้เห็น “ความได้เปรียบ” ของฝ่ายรัฐบาล ได้ที่ไม่ต้อง “ออกแรง” เพราะจากนี้ไป รัฐบาลของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จะหมดปัญหา “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” อีกต่อไป เพราะ หนึ่ง ส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ ตัวเลข ณ เวลานี้มีอยู่ 498 เสียง หากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของอนาคตหายไป 11 เสียงจะเหลือส.ส.อยู่ในสภาฯทั้งสิ้น 487 เสียง และเสียงกึ่งหนึ่งของสภาฯ จะอยู่ที่ 244 คน ซึ่งปัจจุบันฟากรัฐบาลมีเสียงอยู่ในมือ 260 เสียง ส่วนฝ่ายค้าน ณ วันนี้มีอยู่ 235 เสียง โดยที่ยังไม่ได้ตัดพรรคอนาคตใหม่ 76 ที่ออกไปแต่อย่างใด หมายความว่าตัวเลขส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลได้ทิ้งห่างฝ่ายค้าน อย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากกรณีที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เพิ่งโบกมือลาการเป็น “ฝ่ายค้าน” ไปทั้งสิ้น 5 เสียง และหากภายหลังเมื่อพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ ถือเป็นอันปิดเกมสำหรับ “พรรคฝ่ายค้าน” ในสภาฯไปโดยปริยาย แต่สำหรับการเคลื่อนไหว “นอกสภาฯ” โดย แกนนำของพรรคอนาคตใหม่ จากนี้ไปจะออกไปขับเคลื่อนเดินหน้าด้วยความดุเดือดมากน้อยแค่ไหน โปรดอย่าประมาท เพราะนี่คือเวทีสุดท้าย ที่ยังเหลือให้เล่น โอกาสที่จะเล่นจริง ไม่กลัวตาย ยิ่งมีสูง !