กระทรวงเกษตรฯ ประกาศปิดอ่าวไทย 15 ก.พ.-15 พ.ค. 63 นี้ ในเขตพื้นที่ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเล และพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน หวังอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2563 ณ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพรว่า จากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการของกรมประมงพบว่าพื้นที่ทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งมีวงจรชีวิตในช่วงของการปิดอ่าวไทยตอนกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการใช้ทรัพยากรเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ และไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายขึ้น ทั้งนี้ มาตรการปิดอ่าว มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 67 ปี และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมประมง ผู้แทนชาวประมงพาณิชย์-ชาวประมงพื้นบ้าน และออกเป็นประกาศ ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ที่กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูปิดอ่าวไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน ของทุกปี โดยได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ทำให้สัตว์น้ำได้รับการคุ้มครองไม่ถูกจับมาใช้ประโยชน์จนเกินสมควร เป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เลี้ยงตัวเจริญเติบโต อันจะเป็นการสานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฯ ในวันนี้ ได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวประมง เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศปิดอ่าวฯ และได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยขบวนเรือเจ้าหน้าที่เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการประกาศใช้มาตรการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเลจังหวัดชุมพร เพื่อให้ได้ไปเผยแพร่ขยายพันธุ์ และชมนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์สัตว์น้ำและความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัยที่สอดคล้องกับการออกมาตรการฯ ปิดอ่าว ซึ่งประชาชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า ซึ่งการปลูกจิตสำนึกจะเป็นส่วนสำคัญการขับเคลื่อนมาตรการปิดอ่าวฯ เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และชาวประมง ได้ตระหนักถึงการลดขยะทะเลจากภาคการประมง ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติ ฉบับที่ 2559-2564 และโครงการพัฒนาด้านการประมง เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการประมงให้ยั่งยืน โดยสอดรับตามปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะในภูมิภาคอาเซียน ตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จึงจัดทำกิจกรรมขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะทะเล ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วนพร้อมกันในครั้งนี้ด้วย ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศปิดอ่าวไทยดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กที่ไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ได้แก่ 1.เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย 2.เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น 3.เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง 4.เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 5.ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด 6.ลอบหมึกทุกชนิด 7.ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง 8.คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด 9.อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ 10.จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง และ11.เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 “ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย”นายมีศักดิ์ กล่าว