สถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่คนไทยต้องประสบกันทุกปีและนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เป็นคำแนะนำอีกหนึ่งวิธีสำหรับภาครัฐในการแก้ปัญหาฝุ่นด้วยวิธีธรรมชาติที่สามารถทำได้ โดยระบุ
“1.งานวิจัยในยุโรปและอเมริกาหลายชิ้นให้ความเห็นตรงกันว่าต้นไม้ขนาดใหญ่สูงไม่ต่ำกว่า 12เมตร มีใบใหญ่ ปลูกอยู่ 2ข้างริมถนนโดยปลูกเป็นแบบหุบเขา (Street canyon)จะช่วยลดฝุ่นทุกขนาดลงได้มาก
2.เมื่อรถยนต์บนถนนปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากท่อไอเสียออกมาในวันที่ความกดอากาศสูงกดทับพื้นที่และลมค่อนข้างสงบฝุ่น PM 2.5ซึ่งลอยขึ้นจากพื้นถนนจะผ่านต้นไม้ใบดกหนาและจะถูกกรองไว้ด้วยเซลล์ของใบไม้ (Bio filter) ซึ่งมีรูเล็กขนาดน้อยกว่า 0.3 ไมครอนทำให้ฝุ่น PM 2.5 บางส่วนถูกดูดซับไว้ที่เซลล์ของใบไม้
และเมื่อบางส่วนของฝุ่น PM 2.5 ลอยขึ้นไปในบรรยากาศไม่ได้เนื่องจากถูกความกดอากาศสูงกดไว้ ฝุ่นจะลอยกลับลงมาเป็นครึ่งวงกลมก็จะถูกใบไม้ของต้นไม้อีกฟากของถนนดูดซับไว้ก็จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 บริเวณริมถนนเส้นนั้นลดลงได้ถึงร้อยละ 50
3.กทม.ปลูกต้นไม้ริมถนนสายหลักน้อยมาก และไม่นิยมปลูกต้นไม้เป็น Street canyon แต่จะสร้างอาคารสูงอยู่ 2 ข้างทางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะริมเส้นทางรถไฟฟ้า จึงทำให้มีฝุ่น PM 2.5 ขังอยู่ในแอ่งกะทะดังกล่าวในปริมาณมากโดยเฉพาะวันที่ความกดอากาศสูงกดลงมาและลมสงบ แต่หากปลูกต้นไม้ใหญ่จะช่วยลดฝุ่นทุกขนาดได้ถึงร้อยละ 50
4.ต้นไม้ที่แนะนำให้ปลูกเป็นแบบหุบเขาบนถนน เช่น ตะแบก อโศกอินเดีย ชมพูพันทิพย์ เสลา อินทนิน เป็นต้น”

