กรมศิลปากรเปิดสัมมนาวิชาการ “วิชชาแห่งบูรพา: พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” คติความเชื่อ ประติมานวิทยา หลักฐานโบราณคดี วันนี้ (14 ก.พ. 63) ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “วิชชาแห่งบูรพา: พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” โดยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดสัมมนาฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 300 คน นายประทีป กล่าวว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คอยช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์และเข้าถึงพระโพธิญาณ ซึ่งสะท้อนคติมหายานที่เน้นเรื่องการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นก่อนประโยชน์ส่วนตน และแม้พุทธศาสนาจะมีกำเนิดจากประเทศอินเดีย แต่จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันมีการพบหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำนวนไม่น้อย การสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลวิชาการในเรื่องประติมานวิทยา และศิลปะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ยังเป็นการทบทวนความรู้ในเรื่องราวของคติความเชื่อพุทธศาสนามหายานให้แพร่หลายในวงกว้าง ไม่เฉพาะเพียงแวดวงวิชาการทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และหลักฐานที่เชื่อมโยงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และนำไปสู่การร่วมมือช่วยกันดูแลรักษาให้มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้คงอยู่สืบไป การจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการของซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา ประติมานวิทยาแห่งองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะที่สำคัญที่พบเป็นจำนวนมาก และบอกเล่าเรื่องราวแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมระหว่างดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออก ทั้งในประเทศไทยและประเทศที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกตะวันออก เช่น อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากบุคลากรของกรมศิลปากรและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาร่วมแบ่งปันความรู้ให้กับผู้สนใจ โดยช่วงเช้าบรรยายเรื่อง “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร: ที่สุดมหากรุณาบารมี” โดยดร.นันทนา ชุติวงศ์ ช่วงบ่ายเป็นการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร: จากต่างแดนสู่สุวรรณภูมิ” โดยดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร รศ.ดร.เชษฐ์ติงสัญชลีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการเสวนาโดยนายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ