"มทร.ศรีวิชัยตรัง" จับมือ "กสศ." จัดโครงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง นำร่องชุมชนชายฝั่งตรัง เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตจังหวัดตรัง อ.สิเกา จ.ตรัง รศ.ดร.ชุตินุช สุจริต รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.ชาคริยา ฉลาด รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี (ที่ปรึกษาโครงการ) ดร.นิภาพร ช่วยธานี ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว นางสาวกัญจน์กมล กลิ่นหอม พร้อมคณะทำงาน เป็นประธานและร่วมในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง : กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง จังหวัดตรัง ครั้งที่ 1ขึ้นโดยมีบุตรหลานชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตรัง ประกอบด้วย 5 อำเภอชายฝั่งได้แก่ อำเภอสิเกา อำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว และอำเภอหาดสำราญ ซึ่งประกอบด้วย 15 ตำบล 50 หมู่บ้านร่วมกิจกรรม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีการคัดเลือกเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์ จะใช้ข้อมูลจากผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 15 ตำบล ข้อมูลจาก กศน.อำเภอ เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีความสนใจ เข้าร่วมโครงการ โดยการพิจารณาร่วมกันของคณะทำงาน ผู้นำท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุตรหลานชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรัง ที่ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 และสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุไม่จบการศึกษาและไม่ศึกษาต่อ และเตรียมตัวเข้าสู่วัยแรงงานในพื้นที่ แต่ไม่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การเพิ่มโอกาสและศักยภาพของเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ให้มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมง ต่อจากชุดความรู้พื้นฐานเดิมจากครอบครัว ที่ผ่านการเรียนรู้แบบจดจำ หรือถ่ายทอดในครัวเรือนและชุมชน จะเป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของครัวเรือนชุมชนชายฝั่ง ทำให้เยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้กลับเข้าสู่การพัฒนาความสามารถด้านทักษะอาชีพ ซึ่งหากสามารถให้การรับรองคุณวุฒิที่เป็นมาตรฐานและถูกยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ จะเป็นช่องทางให้เยาวชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น เช่นหลักประกันในการกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน การกู้ธนาคาร ธกส. ธนาคารออมสิน หรือแหล่งทุนอื่นๆ เพื่อโอกาสในการสร้างธุรกิจของเยาวชน ซึ่งอาจจะเป็นการต่อยอดอาชีพประมงชายฝั่งของครอบครัวสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งอาจจะเป็นวิธีการที่ช่วยสร้างการยอมรับในการประกอบอาชีพ การติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างช่องทางตลาดให้กับธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้เพื่อสร้างเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเยาวชนที่จะกลับเข้าสู่การศึกษาเพิ่มทักษะวิชาชีพ คือทักษะวิชาชีพนักเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นรุ่นใหม่ และทักษะวิชาชีพนักแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงรุ่นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาตลอดหลักสูตรการอบรมจำนวน 120 ชั่วโมง ผู้ที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพพื้นฐาน เป็นการรับรอง โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐาน จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในทักษะที่อบรม และสามารถนำความรู้กลับไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งอาจะนำไปประยุกต์การเพาะเลี้ยงสาหร่ายหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อเป็นอาหารในครอบครัว และสามารถเหลือจำหน่ายได้ในตลาดชุมชน