วันที่​ 13 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ กับ หน่วยงานวิจัยด้านอวกาศสหรัฐอเมริกา (The MILO Space Science Institute) หรือ MILO เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุม 1 จิสด้า อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้จิสด้าได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งด้านการต่อยอดงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ การเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาโครงการด้าน Robotic Technology เพื่อสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ (Lunar Mission) ภายใต้สัญญา CLPS (Commercial Lunar Payload Services) ที่จัดทำร่วมกันกับนาซ่า นอกจากจะได้องค์ความรู้จากการดำเนินงานร่วมกันแล้ว ยังมีส่วนที่จะช่วยในการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ผ่านการเรียนรู้แบบ project-based โดยการร่วมกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรจากผู้นำองค์กรด้านอวกาศจากหน่วยงานรอบโลก นอกจากนี้แล้ว สำหรับโครงการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ที่เกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันจะทำให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนักลงทุน จะเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง Ecosystem บนรากฐานของเทคโนโลยีอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาประเทศต่อไป ดร.อานนท์กล่าว ทางด้านนายเดวิด โธมัส ผู้อำนวยการหน่วยงานวิจัยด้านอวกาศสหรัฐอเมริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย Arizona State ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท Lockheed Martin ที่ได้ริเริ่มโครงการ Lunar Mission เพื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้เรียนรู้ร่วมกันในด้าน Robotic Technology เพื่อภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จิสด้าได้เข้ามามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกอบรม ตลอดจนสมรรถนะต่างๆ ร่วมกันทุกขั้นตอน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับองค์กรของตนในการสร้างสรรค์องค์กรให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมและองค์กรชั้นนำด้านอวกาศในระดับภูมิภาคต่อไป